ชาวมายันเก็บเกี่ยวเมล็ดคาเคาและทำเป็นของเหลวหรือช็อกโกแลตที่มีรสชาติค่อนข้างขมแล้วแต่งกลิ่นด้วยสมุนไพรและพริกทำเป็นเครื่องดื่ม ช็อกโกแลตมีความสำคัญอย่างมากในสังคมของชาวมายันมีราคาแพงและดื่มกินกันในกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น มันถูกใช้เป็นเครื่องดื่มในงานพิเศษอย่างเช่นงานแต่งงานและใช้ในงานพิธีทางศาสนา มีหลักฐานว่าต้นคาเคาถูกใช้ในพิธีฝังศพ และช็อกโกแลตมักปรากฏอยู่บ่อยๆในภาพจิตรกรรมฝาผนังและชิ้นงานศิลปะ
นักโบราณคดี Joanne Baron ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับงานศิลปะของชาวมายันในช่วงระหว่างปี 250 ถึงปี 900 โดยศึกษาชิ้นงานศิลปะหลายแขนงทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพบนเซรามิก และงานแกะสลัก ระหว่างทำการวิจัย Baron พบว่าช็อกโกแลตไม่มีปรากฏในชิ้นงานศิลปะเลยจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 8 และหลังจากนั้นมันก็แพร่หลายมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าในภาพจิตรกรรมฝาผนังของชาวมายันที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเสนอช็อกโกแลตเพื่อแลกกับแป้งทำขนม Baron เชื่อว่าช็อกโกแลตเริ่มถูกใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่น ต่อมาเมล็ดคาเคาคั่วได้กลายเป็นเงินรูปแบบหนึ่ง มีภาพอยู่ราว 180 ภาพที่มีการให้เมล็ดคาเคาต่อกษัตริย์และผู้นำเป็นเครื่องบรรณาการ พวกมันยังถูกใช้สำหรับจ่ายภาษีอีกด้วย
Baron เชื่อว่าการที่กษัตริย์ของชาวมายันได้เก็บเมล็ดคาเคาและผ้าทอเป็นภาษีแสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกใช้ในลักษณะของเงินตรา เธอกล่าวว่า “พวกเขาเก็บเมล็ดคาเคาไว้มากกว่าที่จำเป็นต้องใช้ในพระราชวัง” ส่วนที่เหลืออาจถูกใช้ในการจ่ายเป็นค่าแรงให้กับคนงานในวังหรือใช้ซื้อของในตลาด
คุณค่าโดยธรรมชาติของเมล็ดคาเคาในฐานะที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำช็อกโกแลตทำให้มันมีราคาและค่อยๆพัฒนาจนกลายเป็นเงิน Baron ระบุว่าเมล็ดคาเคาได้ทำหน้าที่ด้านการเงินภายใต้บริบทของการขยายตลาดท่ามกลางคู่แข่งของอาณาจักรมายา เธอบอกด้วยว่าผ้าทอก็เป็นเงินในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยกระบวนการและแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่คล้ายกัน
Baron ยังเชื่อด้วยว่าผลผลิตที่ตกต่ำของเมล็ดคาเคามีส่วนต่อการล่มสลายของอาณาจักรมายา เนื่องจากบทบาทของมันในฐานะเป็นเงิน เมื่อจำนวนเมล็ดคาเคาลดลงไปมากๆทำให้การซื้อขายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย พอเศรษฐกิจทรุดหนักอาณาจักรจึงเริ่มล่มสลาย แต่ในประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วยกับเธอ เพราะไม่เชื่อว่าการไม่มีสินค้าเพียงตัวเดียวจะทำให้ทั้งระบบล่มสลายได้
อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่าช็อกโกแลตมีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมายัน จากภาพที่แสดงในจิตรกรรมฝาผนังและชิ้นงานศิลปะอื่นดูเหมือนว่าตอนแรกมันถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและภายหลังได้กลายเป็นเงิน แสดงว่าคุณค่าของเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณค่าตามธรรมชาติอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับบทบาททางสังคมอีกด้วย งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความช่ำชองของชาวมายันและวิธีที่พวกเขาสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในช่วงหลายศตวรรษก่อนการมาถึงของพวกสเปนซึ่งเข้ามายึดครอง
ข้อมูลและภาพจาก ancient-origins.net, sciencemag