กล้องฮับเบิลจับภาพแสงออโรราขนาดใหญ่กว่าโลกที่ขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี

นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางหลายพันไมล์มุ่งหน้าไปไกลถึงแคนาดาหรือไอซ์แลนด์ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้เห็นแสงเหนือ แต่ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับ​​เบิลได้จับภาพใหม่ล่าสุดของแสงออโรราอันงดงามที่อยู่ห่างออกไปไกลแสนไกล: ที่ขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี

โดยการใช้เครื่องตรวจจับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับ​​เบิล นักวิจัยสามารถจับภาพของแสงออโรราขนาดใหญ่กว่าโลกของเราได้ที่บริเวณขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี แสงอัลตร้าไวโอเล็ตที่สดใสนี้เกิดจากลมสุริยะซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ปะทะกับชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีและชนกับอะตอมของก๊าซ

อนุภาคที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีไม่ได้มาจากพายุสุริยะและเศษซากของกาแล็คซี่อื่นๆเหมือนกับที่ทำให้เกิดแสงออโรราบนโลกเท่านั้น แต่สนามแม่เหล็กกำลังสูงที่ขั้วของดาวพฤหัสบดียังดึงเอาอนุภาคที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอเข้ามาอีกด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้แสงออโรรามีขนาดใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นบนโลกเท่านั้น แต่ยังมีพลังรุนแรงมากกว่าหลายร้อยเท่า

นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่าสภาพของลมสุริยะมีผลกระทบต่อแสงออโรราอย่างไร การสังเกตพบแสงออโรราครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ดีมากๆ เนื่องจากยานอวกาศจูโนจะเดินทางมาถึงดาวพฤหัสบดีในวันจันทร์ที่ 4 กรกฏาคมนี้ ในขณะที่กล้องฮับเบิลกำลังสังเกตและตรวจวัดออโรราบนดาวพฤหัสบดี ยานจูโนก็จะตรวจวัดข้อมูลคุณสมบัติต่างๆของลมสุริยะ มันจะเป็นความร่วมมือที่สมบูรณ์แบบระหว่างกล้องโทรทรรศน์และยานอวกาศ

jupiter-aurora-2

“แสงออโรรานี้มันช่างน่าทึ่งและมีชีวิตชีวามากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา” Jonathan Nichols หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวในการแถลงข่าว “มันเกือบจะดูเหมือนว่าดาวพฤหัสบดีมีการจุดพลุไฟต้อนรับการมาถึงของยานจูโนเลยทีเดียว”

ครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่กล้องฮับเบิลให้ความสนใจต่อแสงออโรราของดาวพฤหัสบดีในขณะที่ยานสำรวจอวกาศเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงนี้ มันเคยทำงานร่วมกับยานอวกาศแคสซีนีในปี 2000 และทำเช่นเดียวกันเมื่อยานนิวฮอไรซันส์บินผ่านในปี 2007

ชมวิดีโอสั้นๆที่กล้องฮับเบิลจับภาพแสงออโรราบนดาวพฤหัสบดีได้ที่ด้านล่าง

 

ข้อมูลและภาพจาก  howstuffworks, gizmag

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *