โรคเบาหวานชนิดที่1เกิดจากเบต้าเซลล์ในตับอ่อนหยุดการผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เป็นตัวนำกลูโคสจากเลือดเข้าไปในเซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน ถ้าไม่มีอินซูลินระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงเกินไป ทำให้เป็นโรคเบาหวานนั่นเอง การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตา โรคระบบประสาท โรคแทรกซ้อนที่ขา ฯลฯ
เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1ต้องใช้อินซูลินทุกวันโดยการฉีดหรือใช้อินซูลินปั๊ม
การให้อินซูลินโดยการฉีดยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด โดยปกติผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบโรคเบาหวานชนิดที่1จะได้รับคำแนะนำให้ฉีดอินซูลินวันละสองครั้ง แล้วอาจจะเพิ่มเป็นสามหรือสี่ในภายหลัง
อินซูลินปั๊มเป็นอีกวิธีหนึ่งในการให้อินซูลิน มันเป็นอุปกรณ์ที่ให้อินซูลินอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางสายสวนที่สอดอยู่ภายใต้ผิวหนัง
อย่างไรก็ตามการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่1โดยวิธีการให้อินซูลินในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการอินซูลินของผู้ป่วย ปริมาณของอินซูลินที่ต้องการจะแตกต่างกันไปในแต่ละวันขึ้นอยู่กับการกินอาหาร การออกกำลังกาย และสำหรับผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน
ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นจะต้องวัดระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลาที่กำหนดทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงหรือต่ำเกินไป และสามารถกำหนดจำนวนที่ถูกต้องของอินซูลินที่จะใช้ในแต่ละครั้ง ซึ่งการที่ต้องดำเนินการดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยอย่างมาก และมักจะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ไม่ค่อยดี เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆค่อนข้างมาก
ตับอ่อนเทียมได้รวมเอากระบวนการวัดระดับน้ำตาลในเลือดและการให้อินซูลินในปริมาณที่เหมาะสมมาไว้ในอุปกรณ์เดียว โดยการสอดเข็มไว้ใต้ผิวหนังทำให้สามารถตรวจวัดติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่องและการให้อินซูลินจะถูกดำเนินการโดยระบบบริหารจัดการอินซูลินแบบอัตโนมัติเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งสามารถยกเลิกภาระของการดูแลตนเองของผู้ป่วยและยังมั่นใจได้ยิ่งขึ้นว่าน้ำตาลในเลือดจะอยู่ในระดับที่ดีตลอดเวลา
ตับอ่อนเทียมจะสามารถวางตลาดได้ในอีกไม่นาน องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) กำลังตรวจสอบทบทวนข้อเสนอระบบตับอ่อนเทียมอยู่รายหนึ่ง โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในปีหน้า ขณะที่สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรคาดว่าระบบตับอ่อนเทียมน่าจะใช้งานได้ราวปลายปี 2018
ข้อมูลและภาพจาก medicalnewstoday, eurekalert