การนำยานอวกาศลงจอดที่ด้านมืดของดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถมองเห็นบริเวณนี้ได้จากโลก จำเป็นต้องมีดาวเทียมโคจรเหนือดวงจันทร์เพื่อถ่ายทอดสัญญาณ และจีนก็ได้ส่งดาวเทียมดังกล่าวที่ชื่อ Queqiao เข้าสู่วงโคจรสำเร็จตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 และมันถูกใช้ในการยืนยันความสำเร็จในการลงจอดของยาน Chang’e-4 ในแอ่งที่ราบขั้วใต้ South Pole-Aitken Basin ที่มีขนาดกว้าง 2,500 กม. ลึก 13 กม.
องค์การอวกาศจีนยืนยันว่ายานลงแตะพื้นดวงจันทร์เมื่อเวลา 10.26 น. ของเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และมันได้ส่งภาพถ่ายภาพแรกกลับมายังโลกแล้วซึ่งเป็นภาพพื้นดวงจันทร์บริเวณที่ยาน Chang’e-4 จะมุ่งหน้าเดินทางไปสำรวจนั่นเอง
ที่น่าสนใจก็คือด้านมืดหรือด้านไกลของดวงจันทร์นี้เป็นแหล่งของน้ำแข็งเก่าแก่จำนวนมากซึ่งยังคงสภาพเดิมเนื่องจากไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง และเป็นบริเวณที่ได้รับการป้องกันไม่ถูกรบกวนโดยคลื่นวิทยุจากโลก ซึ่งทำให้มันเป็นสถานที่ที่ดีในการค้นหาคลื่นวิทยุคอสมิคที่ส่งออกมาจากที่อื่นในเอกภพ นอกเหนือจากนั้นด้วยการสำรวจไปตามความลึกของแอ่งที่ราบขั้วใต้ South Pole-Aitken Basin ของยาน Chang’e-4 อาจสามารถเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเปลือก (crust) และเนื้อภายใน (mantle) ของดวงจันทร์ และเพิ่มความเข้าใจในวิวัฒนาการและความเป็นมาดวงจันทร์
และองค์การอวกาศจีนจะไม่หยุดอยู่แค่เพียงความสำเร็จอันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนี้เท่านั้น ทายาทผู้สืบทอดภารกิจหาญกล้ารุ่นต่อไปคือยาน Chang’e-5 มีเป้าหมายไม่เพียงเฉพาะการลงจอดบนดวงจันทร์ในปีหน้า แต่ยังจะนำตัวอย่างของดวงจันทร์กลับมายังโลกเพื่อศึกษาต่อไปอีกด้วย
ข้อมูลและภาพจาก chinadaily, eoportal