นักวิทยาศาสตร์รู้เรื่องอุณหภูมิที่สูงผิดปกติที่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีตั้งแต่ 4 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อยานวอยเอจเจอร์ได้บินผ่านและกล้องโทรทรรศน์ได้วัดอุณหภูมิของมันในปี 1970 ที่ชั้นบรรยากาศระดับความสูง 800 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวที่เต็มไปด้วยพายุดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้มีอุณหภูมิมากกว่า 537 องศาเซลเซียส ซึ่งสร้างความงุนงงสงสัยแก่นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันของอังกฤษและมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ในฮาวายทำการวัดระดับของแสงอินฟราเรดซึ่งไม่สามารถมองเห็นที่ดาวพฤหัสปล่อยออกมาเพื่อสร้างแผนที่ความร้อนของบรรยากาศชั้นบนของมัน James O’Donoghue จากมหาวิทยาลัยบอสตันกลับค้นพบสิ่งไม่คาดคิด
นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีอุณหภูมิที่สูงมากผิดปกติที่ระดับความสูง 800 กิโลเมตรเหนือจุดแดงใหญ่ มันสูงถึง 1,327 องศาเซลเซียส เกือบสองเท่าของอุหภูมิของบรรยากาศโดยรอบ ทำให้ O’Donoghue และทีมงานสงสัยว่าจุดแดงใหญ่ที่ด้านล่างส่งความร้อนมาให้ชั้นบรรยากาศด้านบน
“ตอนที่เห็นครั้งแรก ผมไม่เชื่อ” O’Donoghue กล่าว “มันต้องใช้เวลาทำงานอีกเป็นเดือนเพื่อโน้มน้าวพวกเราเอง แต่มันไม่อาจโต้แย้งได้จริงๆ นี่อาจจะเป็นสัญญาณบอกคุณว่ามีปฏิสัมพันธ์บางอย่างระหว่างบรรยากาศชั้นล่างและบรรยากาศชั้นบน”
“การเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นรอบจุดแดงใหญ่จะส่งคลื่นออกไปในทุกทิศทาง” O’Donoghue กล่าวเพิ่มเติม “เราเชื่อว่าคลื่นเสียง (acoustic waves) เหล่านั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความร้อน เพราะคลื่นแรงโน้มถ่วงมีแนวโน้มที่จะส่งพลังงานไปทั่วดวงดาวมากกว่าจะส่งเป็นแนวตั้งขึ้นไปเหมือนคลื่นเสียง”
นักวิจัยกำลังสร้างแผนที่อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นบนของดาวพฤหัสอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างจุดร้อนในชั้นบรรยากาศข้างบนกับสภาพอากาศที่ปั่นป่วนที่ด้านล่าง พวกเขาหวังว่าจะสามารถตอบคำถามบางอย่าง เช่น ทำไมจุดร้อนจะปรากฏเฉพาะในช่วงครึ่งทางตอนเหนือของจุดแดงใหญ่ และมันจะร้อนอย่างคงที่หรือจะมีช่วงเวลาที่เย็นลง
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, space