นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการที่น้ำในทะเลสาบอูร์เมียเปลี่ยนเป็นมีสีแดงเข้มเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในฤดูใบไม้ผลิน้ำจืดจากหิมะละลายและฝนตกจะไหลเข้าสู่ทะเลสาบทำให้ความเข้มข้นของเกลือในทะเลสาบลดลง แต่ในฤดูร้อนไม่มีน้ำจืดไหลเข้าทะเลสาบ ขณะเดียวกันน้ำที่ระเหยออกไปก็เพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของเกลือในทะเลสาบเพิ่มขึ้น
มีจุลินทรีย์บางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในระบบนิเวศของทะเลสาบอูร์เมีย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีน่าจะได้แก่ แบคทีเรีย Halobacteriaceae และ สาหร่าย Dunaliella
“ในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของเกลือสูงและแดดจัด สาหร่ายขนาดจิ๋วพวกนี้จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดสีภายในเซลล์” Mohammad Tourian นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมัน กล่าว
ส่วนแบคทีเรีย Halobacteriaceae ก็ผลิตเม็ดสีสีทับทิม ถ้าหากพวกมันมีปริมาณมากพอก็สามารถเปลี่ยนสีของน้ำได้
ในอดีตที่ผ่านมาน้ำของทะเลสาบอูร์เมียได้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง จากสีแดงเป็นสีเขียว กลับไปกลับมาหลายครั้ง แต่คราวนี้ทะเลสาบอูร์เมียมีแนวโน้มที่จะมีสีแดงอย่างถาวร เนื่องจากประสบกับภัยแล้งและการผันน้ำเพื่อการเกษตรได้ลดปริมาณน้ำจืดที่ไหลเข้าทะเลสาบลงไปอย่างมาก
ทะเลสาบอูร์เมียไม่ได้เป็นเพียงแห่งเดียวที่น้ำเปลี่ยนสีเนื่องจากจุลินทรีย์ ในปี 2013 ทะเลสาบน้ำเค็มยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เปลี่ยนเป็นสีชมพูเนื่องจากจุลินทรีย์ที่อยู่อาศัยอยู่ในทะเลสาบเช่นเดียวกัน
ข้อมูลและภาพจาก natureworldnews, livescience