อากาศแล้งจัดจน “สโตนเฮนจ์แห่งสเปน” ที่จมน้ำหายไปโผล่ให้เห็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

หลังจากจมหายไปในอ่างเก็บน้ำใหญ่นานเกือบ 50 ปี อนุสาวรีย์หินโบราณเก่าแก่ที่เรียกกันว่า “สโตนเฮนจ์แห่งสเปน” ได้โผล่ให้เห็นแบบเต็มตัวอีกครั้ง อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศของยุโรปที่ร้อนจัดและแห้งแล้งที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ

กลุ่มแท่งหินที่วางเรียงเป็นวงแบบเดียวกับสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ในประเทศอังกฤษนี้เรียกว่า Dolmen of Guadalperal ตั้งอยู่ที่เมือง Peraleda de la Mata ประเทศสเปน มันจึงมักถูกเรียกว่า Spanish Stonehenge ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1926 ประกอบด้วยแท่งหินขนาดใหญ่ราว 150 ก้อนบางก้อนสูง 1.8 เมตร วางเรียงเป็นวงรูปไข่ นักโบราณคดีคาดการณ์ว่ามันถูกสร้างในราว 7,000 ปีก่อน พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นวิหารบูชาดวงอาทิตย์หรือไม่ก็เป็นที่ฝังศพ

ปี 1963 มีการสร้างเขื่อน Valdecañas บนแม่น้ำTagus เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ท่วมอนุสรณ์โบราณแห่งนี้จนมิดหายไปจากสายตา จากนั้นมาก็ไม่มีใครมีโอกาสได้เห็นมันอย่างเต็มตาอีกเลย จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางองค์การนาซาได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดเผยให้เห็นอนุสรณ์สถานโบราณแห่งนี้อีกครั้ง

spanish-stonehenge-2

spanish-stonehenge-3

ปี 2019 ฤดูร้อนในทวีปยุโรปมีสภาพอากาศร้อนจัดมากจนทำลายสถิติเดิม เป็นปีที่ร้อนจัดมากที่สุดปีหนึ่งในรอบศตวรรษ ผลของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างรุนแรงนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยพบเจอหลายอย่าง เช่น ต้นปรงโบราณในอังกฤษออกดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ล้านปี ส่วนในสเปนระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ Valdecañas ก็ลดลงไปมากจนทำให้มองเห็น Dolmen of Guadalperal อยู่บนพื้นดินแห้งทั้งหมดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี

“ตลอดชีวิตของผมผู้คนได้บอกเล่าเกี่ยวกับกองหินนี้มาตลอด” Angel Castaño นายกสมาคมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงกล่าว “ผมเคยเห็นยอดของมันโผล่เหนือน้ำมาก่อนบ้างแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นมันทั้งหมด มันน่าตื่นเต้นเพราะคุณสามารถชื่นชมมันอย่างเต็มพิกัดได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ”

อีกไม่นานฝนในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวก็จะตกลงมาและทำให้สโตนเฮนจ์แห่งสเปนจมอยู่ใต้น้ำอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มคนในท้องถิ่นได้ยื่นคำร้องเพื่อย้ายอนุสาวรีย์โบราณทั้งหมดไปยังพื้นที่ที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถศึกษากองหินได้สะดวกและประชาชนทั่วไปก็สามารถมาเยี่ยมชมได้ อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีบางคนกังวลว่าการเคลื่อนย้ายอาจเร่งการสลายตัวของมันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องทำงานอย่างเร่งรีบแข่งกับระดับน้ำที่สูงขึ้น

spanish-stonehenge-4

 

ข้อมูลและภาพจาก earthsky.org, smithsonianmag

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *