แต่ Tine Frøysaker นักอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัยออสโลไม่เชื่อ เธอได้ศึกษามูลนกที่เก็บจากโบสถ์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และพบว่ามันดูแตกต่างกับรอยเปื้อนบนภาพมาก
Thierry Ford ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ก็สงสัยด้วยเช่นกัน “เป็นที่รู้กันดีว่ามูลนกจะทำให้เกิดการกัดกร่อนหรือเปื่อยยุ่ยของวัสดุได้ เจ้าของรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถยืนยันได้” เขากล่าว แต่ Munch ใช้กระดาษแข็งที่เปราะบางในการวาด The Scream เขาไม่น่าจะเสี่ยงที่จะทำลายมันโดยเอาออกไปข้างนอก
นอกจากนี้สารสีขาวที่อยู่บนภาพแทนที่จะทำลายเข้าไปข้างใน ดูเหมือนมันจะหลุดออกมาเป็นจุดๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น Frøysaker จึงคิดว่ามันเป็นไปได้มากที่สีขาวหรือชอล์กอาจจะกระเด็นหล่นลงบนภาพโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะที่ Munch กำลังทำงานอยู่กับภาพเขียนอื่นๆในสตูดิโอของเขา
เธอได้เชิญนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม มาที่กรุงออสโลเพื่อตรวจสอบภาพเขียนด้วยเครื่อง macro-x-ray fluorescence scanner (MA-XRF) ผลการสแกนแสดงให้เห็นว่าสมมติฐานของ Frøysaker ผิด ไม่มีร่องรอยของเม็ดสีสีขาวหรือแคลเซียมถูกตรวจพบ ดังนั้นรอยเปื้อนไม่ได้มาจากสีหรือชอล์กอย่างแน่นอน
นักวิทยาศาสตร์เอาตัวอย่างเล็กๆจากคราบสีขาว ทำการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาคซินโครตรอนที่สามารถผลิตแสง X-ray กำลังสูงที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ภาพเขียนเก่ามาหลายปีแล้ว และมักจะเผยให้เห็นภาพเขียนที่ซ้อนกันอยู่ใต้ภาพเดิม
การวิเคราะห์นี้จะให้รูปแบบการกระเจิงของ X-ray ที่ขึ้นอยู่กับสารตัวอย่าง โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างมูลนกที่เก็บมาจากออสโลเปรียบเทียบกันด้วย
ผลของรูปแบบการกระเจิงของ X-ray ชี้ชัดว่าไม่ใช่มูลนก แต่ Frederik Vanmeert นักศึกษาปริญญาโทจำได้ในทันทีมันเป็นลักษณะที่โดดเด่นของผลึกขี้ผึ้ง
ศิลปินมักจะใช้ขี้ผึ้งในการติดผ้าใบผืนใหม่เข้ากับด้านหลังของผืนเก่า ดังนั้นสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับรอยด่างสีขาวบนภาพ The Scream ก็คือเกิดจากขี้ผึ้งเหลวที่หยดลงบนภาพเขียนโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะที่ Munch กำลังเขียนภาพในสตูดิโอของเขา
นักวิจัย Geert Van der Snickt ยอมรับว่าถ้านกเกิดชอบกินขี้ผึ้งในทางทฤษฎีก็เป็นไปได้ที่จะพบร่องรอยในมูลของมัน แต่มันไกลจากความจริงไปมากถ้าจะสมมุติว่านกที่กินขี้ผึ้งแล้วถ่ายมูลลงบนภาพของ Munch ขณะที่บินผ่านมาพอดี “ผมคิดว่าเราสามารถสรุปได้แล้วว่ารอยด่างไม่ได้เกิดจากมูลนก” Van der Snickt กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก gizmodo, theguardian