ลูกแก้วคริสตัลใสในมือซ้ายของพระเยซูในภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นสัญลักษณ์แทนโลกเพื่อต้องการสื่อความหมายว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลกหรือ Savior of the World ซึ่งในภาษาลาตินก็คือคำว่า Salvator Mundi ที่เป็นชื่อภาพนั่นเอง
สิ่งที่ผู้คนกังขากันอย่างมากคือรายละเอียดของเสื้อคลุมที่อยู่ด้านหลังของลูกแก้ว เพราะตามปกติแล้วภาพที่คนเรามองผ่านลูกแก้วจะผิดเพี้ยนไม่เหมือนกับที่เรามองโดยตรง เนื่องจากลูกแก้วจะสะท้อนและหักเหแสงคล้ายกับเลนส์นูน สังเกตรอยพับของเสื้อคลุมหากมองผ่านลูกแก้วตามปกติจะเห็นการกลับด้านและขนาดที่ผิดเพี้ยนไปตามรูปข้างล่างด้านซ้ายมือ
ความแปลกประหลาดผิดสังเกตนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนเชื่อว่าภาพ Salvator Mundi อาจไม่ใช่ผลงานของดาวินชี เพราะดาวินชีไม่เพียงเป็นศิลปินชั้นยอดแต่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า รวมทั้งได้เคยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแสง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ดาวินชีจะไม่รู้เรื่องการสะท้อนและหักเหของแสงเมื่อผ่านลูกแก้วทรงกลม แต่นักวิชาการบางคนก็แย้งว่าไม่น่าเป็นเรื่องแปลกที่ดาวินชีจะเขียนภาพออกมาแบบนี้ เพราะดาวินชีขึ้นชื่อว่าชอบเขียนภาพแบบกำกวมให้ผู้ชมได้ตีความกันเองอยู่แล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ (University of California, Irvine) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิก 3 มิติ สร้างภาพจำลองของ Salvator Mundi ให้มีขนาดสัดส่วนตามภาพต้นฉบับแล้วทำการวิเคราะห์ลักษณะของภาพที่มองเห็นผ่านลูกแก้ว โดยมีการทดลองเปลี่ยนแปลงลักษณะและคุณสมบัติของลูกแก้วหลายๆแบบ
ถ้าลูกแก้วเป็นแบบทรงกลมตันภาพที่มองเห็นผ่านลูกแก้วจะมีการกลับด้านและขยายขนาดแตกต่างจากที่เห็นในภาพ Salvator Mundi โดยสิ้นเชิง แต่ถ้าหากลูกแก้วเป็นแบบกลวงภาพที่มองเห็นผ่านลูกแก้วจะไม่ค่อยผิดเพี้ยนไปมาก ทีมวิจัยพบว่าถ้าเป็นลูกแก้วกลวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13.6 เซ็นติเมตร หนาไม่เกิน 1.3 มิลลิเมตร ภาพที่มองเห็นผ่านลูกแก้วจะเหมือนกับในภาพของดาวินชีทุกประการ ดังรูปข้างบนด้านขวามือ
“การวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นว่าดาวินชีเข้าใจถึงคุณสมบัติทางแสงของลูกแก้วกลวงเป็นอย่างดีและรู้วิธีการที่จะหลีกเลี่ยงการรบกวนทางสายตาจากการแสดงภาพผิดเพี้ยนของรอยพับในเสื้อคลุมของพระเยซู” ทีมวิจัยกล่าว เชื่อว่างานวิจัยนี้จะทำให้ผู้ชมมองภาพนี้ด้วยความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม
รูปด้านล่างเปรียบเทียบภาพจริง (ซ้ายมือ) กับภาพจำลองโดยคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ใช้ลูกแก้วกลวง (ขวามือ)
ข้อมูลและภาพจาก artnet, sciencealert