โลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดที่อันตรายยิ่งกว่าไวรัสใดๆ มันคือ “มลพิษทางอากาศ”

งานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศได้กลายเป็น ‘โรคระบาด’ ที่ร้ายกาจยิ่ง มันเป็นมฤตยูเงียบที่อันตรายกว่าสงคราม, ความรุนแรง และโรคร้ายอื่นๆอีกมาก แต่ความเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิตนี้กลับถูกมองข้ามไม่ค่อยให้ความสำคัญกันเท่าที่ควรมาเป็นเวลานานแล้ว

นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) วิเคราะห์ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 ล้านคนในปี 2015 ได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่ามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบทำให้ผู้คนทั่วโลกมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลงเกือบ 3 ปี

เนื่องจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชนนั้นมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมากและเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทีมวิจัยจึงเชื่อว่าได้เกิดการระบาดของมลพิษทางอากาศไปทั่วโลกแล้ว

แน่นอนว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศไม่เท่าเทียมกัน เด็กและคนชราที่อ่อนแอกว่ากับผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีการปล่อยมลพิษมากย่อมได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย จากข้อมูลทั่วโลก 75% ของผู้เสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และสำหรับเด็กผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ในปี 2015 ความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนโลกมิได้มีผลกระทบใกล้เคียงกับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเลย โดยการเสียชีวิตเนื่องจากความรุนแรงทำให้อายุเฉลี่ยของชาวโลกสั้นลงเพียง 0.3 ปี แม้กระทั่งการสูบบุหรี่ก็ยังทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนสั้นลงน้อยกว่าราวหนึ่งในสาม และที่สำคัญเรายังไม่สามารถเลิกสูดอากาศแบบเลิกสูบบุหรี่ได้อีกด้วย

ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตและตัวเลขอายุเฉลี่ยที่ลดลงเนื่องจากทั้งมลพิษทางอากาศและการสูบบุหรี่เป็นตัวเลขที่สูงมากทั้งคู่และยังสูงกว่าสาเหตุอื่นๆอย่างมาก การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลพิษทางอากาศมีมากกว่าโรคมาลาเรีย 19 เท่า, มากกว่าความรุนแรง 16 เท่า, มากกว่าโรคเอดส์ 9 เท่า, มากกว่าการดื่มสุรา 45 เท่า และมากกว่ายาเสพติด 60 เท่า

ทีมวิจัยได้ตรวจสอบผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อโรคต่างๆ 6 ประเภทได้แก่โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคปอด, โรคมะเร็งปอด, ความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน แต่สุดท้ายก็พบว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคิดเป็นถึงประมาณ 43%

“มลพิษทางอากาศทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดผ่านความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชันที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต, เบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมอง, หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลว” Jos Lelieveld นักฟิสิกส์จากสถาบัน Cyprus Institute หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

รูปด้านล่างแสดงอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษทางอากาศในทุกภูมิภาคทั่วโลก จะเห็นได้ว่าในบางภูมิภาคมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากอย่างน่าวิตก (สียิ่งเข้มอัตราการเสียชีวิตยิ่งสูง) นักวิจัยเห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องมีนโยบายและดำเนินมาตรการจัดการกับปัญหานี้อย่างเข้มข้น ทั้งมลพิษทางอากาศและการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาส่วนใหญ่กลับให้ความสนใจในปัญหาด้านมลพิษทางอากาศน้อยกว่าการสูบบุหรี่โดยเฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ

Pandemic-air-pollution-2

 

ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, academic.oup.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *