นาซาค้นพบสาเหตุที่ทำให้มีจุดแดงใหญ่ที่ขั้วเหนือของดวงจันทร์ของดาวพลูโต

แม้ว่ายานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ได้ออกจากดาวพลูโตไปไกลลิบแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงคลี่คลายความลึกลับของดาวเคราะห์แคระดวงนี้และดาวบริวารอยู่อย่างขะมักเขม้น ล่าสุดนักวิจัยได้ออกมาเปิดเผยสาเหตุการเกิดจุดสีแดงขนาดใหญ่ที่ขั้วเหนือของแครอน ดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดและถูกจัดเป็นดาวเคราะห์คู่ของดาวพลูโตว่าเกิดจากก๊าซมีเทนที่หลุดออกมาจากบรรยากาศของดาวพลูโต

Will Grundy จากหอดูดาวโลเวลล์และเพื่อนร่วมงานวิเคราะห์ภาพรายละเอียดของจุดสีแดงบนดาวแครอนที่ถ่ายโดยยานนิวฮอไรซันส์ระหว่างการบินสำรวจดาวพลูโตและบริวารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 และสร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของแครอน พวกเขาพบว่าขั้วเหนือของแครอนถูกปกคลุมด้วยสารที่เรียกว่า tholin ซึ่งมีลักษณะเป็นสีแดงเหมือนกับบนดาวพลูโต

charon-red-spot-2

“นี่เป็นตัวอย่างแรกที่ชั้นบรรยากาศหลุดออกไปดาวเคราะห์แล้วมีผลต่อพื้นผิวของดวงจันทร์ของมัน” Grundy กล่าว “มันเหมือนกับว่าดาวพลูโตเป็นศิลปินผู้สเปรย์สีลงบนผิวของแครอนด้วยบรรยากาศที่กำลังหนีหลุดออกไปจากมัน ทำให้เกิดจุดสีแดงขนาดใหญ่ สิ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับดาวเคราะห์คู่ เพียงแต่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน”

ดาวพลูโตมีขนาดค่อนข้างเล็กมีแรงโน้มถ่วงไม่มากจึงไม่สามารถรักษาชั้นบรรยากาศซึ่งมีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบไว้ได้ทั้งหมด มีบางส่วนสามารถหลุดออกไปได้ในทุกทิศทาง ขณะที่แครอนมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะจับบรรยากาศที่หลุดออกมาไว้ได้

ฤดูหนาวบนแครอนเย็นจัด ที่ขั้วดาวมีอุณหภูมิสูงกว่าศูนย์องศาสมบูรณ์ (-273.15 องศาเซลเซียส) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และฤดูหนาวก็ยาวนานมาก กว่า 100 ปีบนโลก ดังนั้นบรรยากาศที่จับมาได้จึงสามารถแข็งตัวติดอยู่กับผิวดาว แต่แครอนเองก็เล็กเกินไปที่จะรักษาบรรยากาศที่เป็นก๊าซไว้ได้นาน เมื่อหมดฤดูหนาวบรรยากาศก็จะระเหยออกไปจากดาว

“พื้นผิวของแครอนส่วนใหญ่จะร้อนเกินกว่าที่มีเทนจะติดแน่นอยู่ได้ แต่ฤดูหนาวที่ขั้วดาวเย็นมากพอที่ทำให้มีเทนติดอยู่ที่ผิวดาวได้ มีเทนจะสะสมอยู่ที่นั่น จนกว่าจะหมดฤดูหนาว” Grundy กล่าว

ระหว่างฤดูหนาวที่ยาวนานรังสีจากดวงอาทิตย์และกาแล็กซี่ต่างๆ ค่อยๆเปลี่ยนมีเทนที่สะสมอยู่ที่ขั้วดาวให้กลายเป็น tholin จึงทำให้เกิดจุดสีแดงที่ขั้วดาว  Grundy คาดว่ามี tholin ที่ขั้วเหนือของแครอนหนาราว 30 เซ็นติเมตร หลังจากการสะสมมานานนับพันล้านปี

สำหรับขั้วใต้ของแครอนในช่วงที่ยานนิวฮอไรซันส์บินผ่านอยู่ในด้านมืดจึงไม่สามารถเห็นได้ แต่นักวิจัยคาดว่าน่าจะมีลักษณะแบบเดียวกับขั้วเหนือ

 

ข้อมูลและภาพจาก  iflscience, redorbit

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *