1. จุดต่ำสุดของเปลือกโลก
จุดต่ำสุดของเปลือกโลกอยู่ที่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกตรงบริเวณที่เรียกว่า Challenger Deep ซึ่งอยู่ภายในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ที่ตั้งอยู่ใกล้เกาะกวมห่างจากประเทศฟิลิปินส์ไปทางทิศตะวันออกราว 2,300 กิโลเมตร จุดนี้มีความลึกถึง 11,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลมากกว่าความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์เยอะ มนุษย์ที่เคยไปถึงจุดนี้มีน้อยกว่านักบินอวกาศที่เคยไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วเสียอีก ถึงปัจจุบันมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เคยไปเยือนและคนล่าสุดคือ James Cameron ผู้กำกับภาพยนตร์คนดังของฮอลลีวู้ดนั่นเอง
2. น้ำตกใต้มหาสมุทร
ที่บริเวณหนึ่งของช่องแคบเดนมาร์กซึ่งอยู่ระหว่างเกาะกรีนแลนด์และเกาะไอซ์แลนด์ในเขตมหาสมุทรอาร์กติกมีน้ำตกใต้น้ำทะเลใหญ่ยักษ์เรียกว่า Denmark Strait cataract มีขนาดกว้าง 160 กิโลเมตรและมีความสูงถึง 3,500 เมตร ความสูงใหญ่ของน้ำตกใต้น้ำแห่งนี้ทำให้บรรดาน้ำตกใหญ่ที่มีบนพื้นแผ่นดินของโลกดูเล็กไปถนัดตา อย่างน้ำตกแองเจิ้ลที่เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในโลกก็สูงไม่ถึงหนึ่งในสามของน้ำตก Denmark Strait หรือน้ำตกที่โด่งดังอย่างน้ำตกไนแองการาที่เป็นหนึ่งในน้ำตกใหญ่ที่สุดในโลกนั้นก็มีปริมาณน้ำตกน้อยกว่าน้ำตกใต้น้ำแห่งนี้ถึง 2,000 เท่า
3. จุดห่างไกลแผ่นดินที่สุด
Point Nemo คือชื่อเรียกจุดที่ห่างไกลจากแผ่นดินที่สุดตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างทวีปออสเตรเลีย, ทวีปอเมริกาใต้ และทวีปแอนตาร์กติกา เป็นจุดที่อยู่ห่างจากแผ่นดินโดยรอบมากที่สุดในทุกทิศทาง อาจเรียกจุดนี้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถเขียนได้บนมหาสมุทรโดยที่เส้นรอบวงมิได้สัมผัสกับแผ่นดินเลยและรัศมีของวงกลมวงนี้มีค่าถึง 2,600 กิโลเมตรซึ่งก็คือระยะทางที่สั้นที่สุดจากจุดนี้ถึงชายฝั่งนั่นเอง ชื่อ Point Nemo ถูกนำมาจากนิยายเรื่อง Captain Nemo ของจูลส์ เวิร์นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก
4. คลังสมบัติใต้ทะเล
ในอดีตที่ผ่านมามีเรืออัปปางจมลงสู่ท้องทะเลถึงราว 3 ล้านลำ ว่ากันว่าทรัพย์สมบัติและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่จมอยู่ในทะเลนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เคยมีการประเมินว่าทรัพย์สมบัติและสิ่งของทางประวัติศาสตร์ที่จมอยู่ใต้ทะเลมีมากกว่าของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดทั่วโลกรวมกัน พื้นทะเลจึงกลายเป็นคลังสมบัติใหญ่ที่หลายคนยังพยายามเป็นเจ้าของอยู่เสมอ
5. เขตมรณะในมหาสมุทร
ถึงแม้ว่าเกือบ 95% ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกอาศัยอยู่ในมหาสมุทร แต่ก็ใช่ว่าสิ่งมีชีวิตจะสามารถอาศัยอยู่ได้ทุกที่ในมหาสมุทร มันมีบางบริเวณที่เกิดสภาวะปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำมากจนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถอาศัยอยู่ได้ บริเวณดังกล่าวเรียกว่า “เขตมรณะ” (Dead zones) ในอดีตอาจมีเขตมรณะในน่านน้ำทะเลเปิดที่ห่างไกลจากฝั่งอยู่บ้าง แต่ผลจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาวะโลกร้อนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้เกิดเขตมรณะในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะมีเขตมรณะใกล้ชายฝั่งแล้วถึงกว่า 500 แห่ง
6. แหล่งผลิตออกซิเจนของโลก
ทุกคนทราบดีว่าต้นไม้ผลิตออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสง ป่าไม้จึงเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญ แต่แหล่งผลิตออกซิเจนใหญ่ที่สุดของโลกกลับเป็นมหาสมุทร ราว 70% ของออกซิเจนในบรรยากาศมาจากสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่อาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำทะเลและล่องลอยไปตามกระแสน้ำ พวกมันคือแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) ที่ผลิตออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงเช่นกัน แพลงก์ตอนพืชประกอบด้วยไดอะตอม สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีทอง ไดโนแฟลกเจลเลต และไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศเนื่องจากเป็นผู้ผลิตปฐมภูมิของห่วงโซ่และสายใยอาหาร
7. ทะเลสีน้ำเงินนั่นเป็นไฉน
หากถามว่าทะเลมีสีอะไรคำตอบส่วนใหญ่คงเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้าทั้งที่ในความเป็นจริงน้ำทะเลนั้นใสไม่มีสี แต่ที่เราเห็นทะเลเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้าเป็นเพราะน้ำทะเลมีคุณสมบัติดูดกลืนแสงสีแดง เหลือง เขียวได้ดี เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านลงไปในน้ำทะเลแสงสีแดงเหลืองเขียวจะถูกน้ำดูดกลืนหายไปหมดเหลือเพียงโทนแสงสีน้ำเงินสะท้อนมาสู่สายตาของเรา สีของทะเลยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เจือปนอยู่ในน้ำด้วย ทะเลน้ำลึกมีสิ่งเจือปนน้อยมากจึงเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม ตามชายฝั่งน้ำทะเลมีสิ่งเจือปนมากขึ้นจึงเห็นเป็นสีฟ้าหรือบางทีก็สีเขียวและอาจเป็นสีอื่นๆตามสีของสิ่งเจือปน
8. เป็ดยางสีเหลืองกับมหาสมุทร
เป็ดยางสีเหลืองน่ารักเป็นตุ๊กตาลอยน้ำที่ได้รับความนิยมอยู่คู่กับชาวโลกมานานเกือบร้อยปีแล้ว จำนวนตุ๊กตาเป็ดยางสีเหลืองถูกผลิตออกจำหน่ายแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตัว ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าเป็ดน้อยลอยน้ำนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลใช้สำหรับศึกษากระแสน้ำในมหาสมุทร จากเหตุการณ์การเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี 1992 ทำให้คอนเทนเนอร์บรรจุเป็ดยางและตุ๊กตาลอยน้ำอื่นจำนวน 29,000 ชิ้นหลุดออกจากเรือที่ออกเดินทางมาจากประเทศจีน นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาทำความเข้าใจกระแสน้ำในมหาสมุทรได้จากเป็ดยางที่ล่องลอยไปถึงชายฝั่งตามที่ต่างๆของโลกได้โดยมิได้ตั้งใจ
9. คนยุคใหม่ผูกพันกับพื้นมหาสมุทร
ในปัจจุบันชาวโลกทั้งหลายต่างมีชีวิตที่ผูกพันกับพื้นมหาสมุทรอย่างไม่รู้ตัว ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตที่แทบขาดไม่ได้ เราใช้งานอินเตอร์เน็ตกันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลานอนอีกครั้ง แต่เราอาจไม่เคยรู้ว่า 99% ของสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เราใช้งานอยู่นี้ถูกส่งผ่านสายเคเบิลที่วางอยู่ก้นมหาสมุทร อันที่จริงนี่ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เพราะในอดีตสายโทรเลขและสายโทรศัพท์ข้ามทวีปก็ถูกวางกับพื้นมหาสมุทรมาแล้วเช่นกัน
10. ภูเขาไฟใต้มหาสมุทร
ภูเขาไฟระเบิดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งสร้างความเสียหายให้กับกับมนุษย์และสัตว์โลกอย่างมาก ในประวัติศาสตร์มีการปะทุของภูเขาไฟเกิดขึ้นจำนวนมาก ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น ภูเขาไฟกรากะตัวในประเทศอินโดนีเซียที่ส่งเสียงดังไปไกลกว่า 4,000 กิโลเมตร หรือภูเขาสตรอมโบลีในประเทศอิตาลีที่ปะทุอยู่เรื่อยๆมาเกือบ 2,000 ปีแล้ว แต่ภูเขาไฟบนบกนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเพราะกว่า 80% ของภูเขาไฟบนโลกเกิดขึ้นในมหาสมุทร และบริเวณที่ภูเขาไฟมีพลังมีจำนวนหนาแน่นที่สุดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าขนาดของกรุงนิวยอร์กแต่มีภูเขาไฟถึง 1,133 ลูก
ข้อมูลและภาพจาก dailysabah, news.az