ตะโขงอินเดียน้ำจืดนับเป็นจระเข้หนึ่งในสามชนิดที่พบในประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในจระเข้ที่มีลำตัวยาวที่สุดในปัจจุบันเมื่อโตเต็มที่ลำตัวอาจยาวได้ถึง 6 เมตรและหนักเกือบ 1,000 กิโลกรัม ชื่อ Gharial มาจากภาษาฮินดูหมายถึงก้อนขี้หมาตรงปลายจมูกอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของมันนั่นเอง ตะโขงอินเดียใช้ก้อนขี้หมาช่วยขยายเสียงที่มันร้องหาคู่และใช้เป่าฟองสบู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ Mukherjee บอกว่าพ่อตะโขงที่เลี้ยงลูกอยู่ในภาพนี้จะต้องผสมพันธุ์กับตัวเมีย 7- 8 ตัวถึงจะมีลูกเป็นฝูงจำนวนกว่า 100 ตัวแบบนี้
หวังว่าจระเข้ตัวน้อยพวกนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีครอบครัวมีลูกของมันเองมากๆในอนาคต เพราะพวกมันถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติรายงานว่ามีสัตว์ชนิดนี้ที่โตเต็มวัยเหลืออยู่ในประเทศอินเดียและเนปาลเพียง 650 ตัว และในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่ Mukherjee ตระเวนอยู่หลายสัปดาห์เพื่อถ่ายภาพนี้มีตะโขงอินเดียโตเต็มวัยราว 500 ตัว
การลดจำนวนของตะโขงอินเดียน้ำจืดมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนและฝายกั้นน้ำซึ่งทำให้การไหลของแม่น้ำหยุดชะงักไป การเอาทรายและก้อนหินออกไปได้จำกัดโอกาสในการสร้างรังของพวกมัน และรวมถึงปัญหาที่มีมาตลอดกาลคือพวกมันไปติดกับเครื่องมือจับปลา ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากหากไม่ต้องการให้พวกมันสูญพันธุ์ไป Mukherjee หวังว่าภาพของเขาจะสามารถช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้องและผลักดันให้การอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ
ภาพถ่ายจระเข้จอมเจ้าชู้ที่น่าจะได้รับการยกย่องเป็นพ่อแห่งปีของ Mukherjee ยังเป็น 1 ใน 100 ภาพยอดเยี่ยมในการแข่งขันช่างภาพชีวิตสัตว์ป่า Wildlife Photographer of the Year 2020 ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติแห่งลอนดอนที่คัดเลือกจากภาพที่เข้าร่วมทั้งหมด 50,000 ภาพ โดยจะมีการประกาศผู้ชนะเลิศในวันที่ 13 ตุลาคม 2020
ข้อมูลและภาพจาก livescience, bbc