การปลูกพืชแบบเดิมไม่สามารถทำในพื้นที่ทะเลทรายได้ แต่นั่นไม่สำคัญสำหรับฟาร์มแห่งนี้ พวกเขาสูบน้ำทะเลผ่านทางท่อจากอ่าวสเปนเซอร์ที่อยู่ห่างออกไป 2 กม. และแยกเกลือออกจากน้ำโดยใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใช้กระจก 23,000 แผ่นสะท้อนแสงแดดไปยังหอรับแสงที่สูง 115 เมตร พลังงานความร้อนจะถูกนำไปใช้ต้มน้ำในบอยเลอร์ขนาดใหญ่เพื่อใช้ไอน้ำไปผลิตไฟฟ้า ในวันที่แดดจัด สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 39 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับโรงงานผลิตน้ำจืดและโรงเรือนปลูกพืช
โรงเรือนได้รับการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช ในฤดูร้อนกระดาษแข็ง (cardboard) ที่ชุ่มด้วยน้ำทะเลที่ใช้บุโรงเรือนจะช่วยให้อากาศภายในโรงเรือนเย็นลงและเสริมด้วยระบบไอเย็น (Evaporative Cooling) ส่วนฤดูหนาวจะมีการใช้เครื่องทำความร้อนที่ใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
ฟาร์มแห่งนี้ผลิตมะเขือเทศได้ 17,000 ตันต่อปี มะเขือเทศ 180,000 ต้นกำลังเจริญเติบโตในโรงเรือนและ Sundrop ยังมีเป้าหมายที่จะปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ผลไม้และพริกไทย พืชในโรงเรือนจะปลูกในเปลือกมะพร้าว และใช้ “แมลงนักล่า” ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช
ด้วยเงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐทำให้ฟาร์มแห่งนี้แพงกว่าการสร้างฟาร์มโรงเรือนแบบเดิม แต่ Philipp Saumweber ซีอีโอของ Sundrop กล่าวว่าในระยาวต้นทุนจะต่ำกว่าเพราะไม่ต้องมีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนกับฟาร์มโรงเรือนแบบเดิม
Sundrop กำลังวางแผนที่จะสร้างฟาร์มแบบนี้ในประเทศโปรตุเกสและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในออสเตรเลียอีกแห่งหนึ่งด้วย ในขณะนี้ยังมีบริษัทอื่นกำลังทดสอบฟาร์มโรงเรือนที่ใช้น้ำทะเลแบบนี้ในพื้นที่ทะเลทรายของประเทศโอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ฟาร์มแบบนี้จะเป็นฟาร์มแห่งอนาคต
ข้อมูลและภาพจาก inhabitat, newscientist