นักวิจัยใช้เกณฑ์หลายอย่างในการคัดเลือก อย่างแรกคือชนิดของดาวฤกษ์ที่ดาวเคราะห์โคจรรอบ ดวงอาทิตย์ของเราจัดอยู่ในประเภท G-type ซึ่งมีอายุขัยน้อยกว่า 10 พันล้านปี แต่เนื่องจากว่าก่อนที่สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนรูปแบบใดๆจะปรากฏบนโลกต้องใช้เวลาถึงเกือบ 4 พันล้านปี ดังนั้นดาวฤกษ์ประเภท G-type อาจหมดเชื้อเพลิงไปก่อนที่สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนจะพัฒนาขึ้นได้ ทีมวิจัยจึงมุ่งความสนใจไปที่ดาวฤกษ์ประเภท K-type ซึ่งเย็นกว่า มีมวลน้อยกว่า และส่องสว่างน้อยดวงอาทิตย์ แต่มีอายุขัยมากกว่าเยอะ ดาวฤกษ์ K-type สามารถยืนหยัดอยู่ได้ 20 – 70 พันล้านปี ดังนั้นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทนี้จึงมีอายุมากและมีเวลามากพอที่สิ่งชีวิตจะสามารถพัฒนาขึ้นได้
ปัจจัยสำคัญถัดไปคือควรเป็นดาวเคราะห์หิน (แบบโลกของเรา) และโคจรอยู่ในเขตอาศัยได้ (Habitable Zone) อันหมายถึงอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระยะที่น้ำสามารถคงอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ได้อย่างคงที่ นอกจากนี้มวลและขนาดของดาวเคราะห์ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากเช่นกัน ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก 10% จะมีพื้นที่สำหรับสิ่งมีชีวิตมากขึ้น ส่วนดาวเคราะห์ที่มีมวล 1.5 เท่าของโลกจะสามารถรักษาความร้อนภายในได้นานกว่าโลกและมีแรงโน้มถ่วงที่แข็งแกร่งกว่าซึ่งจะทำให้สามารถรักษาชั้นบรรยากาศเอาไว้ได้นานขึ้น
ความชื้นกับอุณหภูมิก็เป็นอีกสองปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการอยู่อาศัย ความชื้นที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อยจะเหมาะกับสิ่งมีชีวิตมากขึ้น อุณหภูมิก็เช่นกันหากมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราว 8 องศาฟาเรนไฮน์จะยิ่งดีต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งนี้ยืนยันได้จากที่พบเห็นบนโลกในป่าฝนในเขตร้อนซึ่งมีความชื้นและอุณหภูมิสูงกว่าจะมีความหลากหลายทางชีวภาพมากว่าเขตอื่นทั้งหมด
ดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้างต้นถูกเรียกว่าดาวเคราะห์ที่เอื้อชีวิตกว่าโลก (Superhabitable Planet) ในจำนวน 24 ดวงที่นักวิจัยคัดเลือกออกมานั้นมี 9 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ K-type, มี 16 ดวงเป็นดาวเคราะห์ที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 8 พันล้านปีซึ่งพอเหมาะสำรับสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน และมีอยู่ 5 ดวงที่มีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมคือประมาณ 19°C และทั้ง 24 ดวงโคจรอยู่ในเขตอาศัยได้รอบดาวฤกษ์ของพวกมันซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำสามารถคงอยู่ได้ โดยมีเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ทั้งหมดคือดาวเคราะห์นอกระบบที่เรียกว่า KOI 5715.01 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 1.8 เท่า ตั้งอยู่ในกระจุกดาว Cygnus อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 3,000 ปีแสง
“บางครั้งมันก็ยากที่จะกำหนดหลักการของดาวเคราะห์ที่เอื้อชีวิตกว่าโลกเพราะเราคิดว่าโลกของเราเป็นดาวเคราะห์ที่ดีที่สุด” Schulze-Makuch กล่าว “เรามีสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและหลากหลายจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตมากมายที่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงก็มีอยู่มากมาย มันเป็นเรื่องที่ดีที่มีสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะมีทุกสิ่งที่ดีที่สุด”
ดาวเคราะห์ที่เอื้อชีวิตกว่าโลกทั้ง 24 ดวงนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของการสังเกตการณ์ในอนาคตโดยกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่อันได้แก่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Web และหอสังเกตการณ์อวกาศ LUVIOR ของนาซาและกล้องโทรทรรศน์อวกาศ PLATO ขององค์การอวกาศยุโรป อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจพบหลักฐานการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างดาวก็เป็นได้
ข้อมูลและภาพจาก wsu.edu, cnn