อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการออกกำลังกายมีผลในการป้องกันมะเร็งได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่กลไกทางชีววิทยา คำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงช่วยเพิ่มความสามารถของร่างกายในการป้องกันและยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง นักวิจัยที่สถาบัน Karolinska Institutet ประเทศสวีเดนได้ทำการวิจัยเพื่อยืนยันแนวคิดนี้โดยมุ่งเน้นไปที่เซลล์ภูมิคุ้มกัน Cytotoxic T cell หรือที่เรียกว่า Killer T cells ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยมีสมมติฐานว่าการออกกำลังกายอาจก่อให้เกิดสารบางอย่างที่ช่วยเพิ่มการทำงานของเซลล์ฆ่ามะเร็งเหล่านี้
นักวิจัยได้แบ่งหนูที่ติดเชื้อมะเร็งเป็น 2 กลุ่ม ให้กลุ่มหนึ่งออกกำลังกายเป็นประจำในวงล้อหมุนขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ออกกำลังกาย ผลการศึกษาพบว่าหนูในกลุ่มที่มีการออกกำลังกายมีการเติบโตของมะเร็งช้าลงและมีอัตราการตายลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย จากนั้นนักวิจัยได้ตรวจสอบความสำคัญของ T cells โดยการฉีดแอนติบอดีเพื่อกำจัด T cells ออกจากหนูทั้งสองกลุ่ม ผลลัพธ์คือผลในเชิงบวกของการออกกำลังกายหมดไปซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ T cells ในการยับยั้งมะเร็งอันเป็นผลจากการออกกำลังกาย นักวิจัยยังทำการโอนถ่าย T cells ของกลุ่มออกกำลังกายไปยังอีกกลุ่มหนึ่งก็พบว่าการเติบโตของมะเร็งในกลุ่มไม่ออกกำลังกายลดลง
เพื่อตรวจสอบว่าการออกกำลังกายมีผลต่อการเจริญเติบโตของมะเร็งอย่างไรนักวิจัยได้แยกตัวอย่าง T cells, เลือด และเนื้อเยื่อของหนูภายหลังจากการออกกำลังกายและวัดระดับของสารเมตาบอไลต์ (Metabolite) ที่ถูกผลิตขึ้นในกล้ามเนื้อและถูกขับเข้าไปในกระแสเลือดระหว่างการออกกำลังกาย สารเหล่านี้บางอย่าง เช่น แลคเตท (Lactate) ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการเมตาบอลิซึมของ T cells ส่งผลให้พวกมันทำงานได้ดีขึ้น นักวิจัยยังพบว่า T cells ที่แยกออกมาจากกลุ่มออกกำลังกายมีการเปลี่ยนแปลงเมตาบอลิซึมมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้นักวิจัยได้ตรวจสอบว่าสารเมตาบอไลต์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในการตอบสนองต่อการออกกำลังกายของมนุษย์ พวกเขาเก็บตัวอย่างเลือดจากชายที่มีสุขภาพดี 8 คนหลังจากการปั่นจักรยานอย่างหนัก 30 นาที และพบว่ามีการปล่อยสารเมตาบอไลต์ที่เกิดจากการออกกำลังกายในมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน
“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อการผลิตโมเลกุลและสารเมตาบอไลต์หลายชนิดที่ไปกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับมะเร็งและยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง” Helene Rundqvist หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “เราหวังว่าผลลัพธ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าการออกกำลังกายมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเราอย่างไร และเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อต่อต้านมะเร็งแบบใหม่ที่ควบคุมการทำงานของ T cells ซึ่งเกิดจากการออกกำลังกายนี้ รวมทั้งสามารถนำเสนอวิธีการรักษาใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต”
ข้อมูลและภาพจาก ki.se, healthshots