โครงสร้างน่าพิศวงของสโตนเฮนจ์
สโตนเฮนจ์ตั้งอยู่ที่เมือง Salisbury ประเทศอังกฤษ โครงสร้างของสโตนเฮนจ์ชั้นนอกสุดเป็นคูน้ำและคันดินรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 110 เมตร ด้านในของคันดินมีหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรจำนวน 56 หลุมเรียงต่อเนื่องเป็นรูปวงกลม (เรียกว่า Aubrey holes ตามชื่อคนพบ) ถัดเข้าไปข้างในจะเป็นโครงสร้างหลักของสโตนเฮนจ์ซึ่งประกอบด้วยแท่งหินขนาดใหญ่วางเรียงกันเป็นวงกลมหลายชั้น วงนอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 33 เมตรประกอบด้วยแท่งหินแนวตั้งจำนวน 30 แท่งเรียกว่า Sarsen stones (ปัจจุบันเหลือ 16 แท่ง) แต่ละแท่งมีขนาดสูง 4.1 เมตร กว้าง 2.1 เมตรหนักราว 25 ตัน และหินทับหลังที่วางเรียงเป็นวงแหวนอยู่ด้านบนจำนวน 30 ก้อน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ก้อน
แท่งหินวงถัดไปมีเฉพาะหินแนวตั้งที่ขนาดเล็กกว่าเรียกว่า Bluestone น้ำหนักราว 2- 4 ตันต่อแท่งมีจำนวนเท่าวงนอก ด้านในยังมีหิน Sarsen stones แท่งใหญ่ที่ถูกวางเป็นชุดแนวตั้งสองแท่งกับทับหลังหนึ่งอันเรียกว่า Trilithon จำนวน 5 ชุดวางเรียงเป็นรูปเกือกม้า ด้านในเกือกม้ามี Bluestone เรียงตามแนวเกือกม้าอีกสิบกว่าแท่ง ใกล้กับศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ยังมีแท่งหินพิเศษอีกแท่งหนึ่งเรียกว่า Altar Stone ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องในทางดาราศาสตร์กับแท่งหินโดดเดี่ยวขนาดใหญ่หนัก 35 ตันที่อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 77.4 เมตรที่เรียกว่า Heel Stone นอกจากนี้ยังมีแท่งหินที่ถูกติดตั้งในตำแหน่งพิเศษอื่นๆอีก เช่น หิน 4 แท่งในแนวของ Aubrey holes ซึ่งจุดตัดของเส้นทแยงมุมจากหินทั้งสี่แท่งนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์พอดี สโตนเฮนจ์ที่ยังครบสมบูรณ์จะมีลักษณะตามแบบจำลองคอมพิวเตอร์ข้างล่าง
ที่น่าแปลกใจก็คือบริเวณใกล้เคียงกับทุ่งราบ Salisbury สถานที่ก่อสร้างสโตนเฮนจ์นั้นไม่มีแหล่งหิน Sarsen stones และ Bluestone ที่เป็นองค์ประกอบหลักของสโตนเฮนจ์อยู่เลย แล้วผู้สร้างสโตนเฮนจ์นำหินขนาดใหญ่เหล่านั้นมาจากไหน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไบรตัน ประเทศอังกฤษเพิ่งจะยืนยันผลการวิเคราะห์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ว่าหิน Sarsen stones น่าจะนำมาจากป่า West Woods ที่อยู่ห่างออกไปราว 25 กิโลเมตร ส่วน Bluestone ได้รับการยืนยันมาก่อนในปี 2019 แล้วว่าน่าจะนำมาจากเหมืองที่ภูเขา Preseli Hills ในประเทศเวลส์ซึ่งอยู่ห่างจากสโตนเฮนจ์ราว 250 กิโลเมตร ด้วยขนาดและน้ำหนักมหาศาลกับระยะทางที่ห่างไกลมากทำให้เกิดคำถามว่าผู้สร้างสโตนเฮนจ์ที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีทันสมัยสามารถทำสำเร็จได้อย่างไรและที่สำคัญพวกเขาเป็นใคร
ใครคือผู้สร้างอนุสรณ์สถานยิ่งใหญ่
ต่อคำถามที่ว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์คำตอบทฤษฎีแรกๆก็คือมนุษย์ต่างดาวคล้ายกับเรื่องลึกลับอื่นๆที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดมายืนยันความเป็นไปได้ทฤษฎีนี้จึงไม่ได้รับความสนใจ นักโบราณคดีได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างยาวนานจนพบหลักฐานที่ทำให้ได้ข้อสรุปว่าสโตนเฮนจ์มีวิวัฒนาการในขั้นตอนการก่อสร้างหลายขั้นตอนหลายช่วงเวลาโดยคนหลายกลุ่มกินเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,500 ปี โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสโตนเฮนจ์ได้รับการพัฒนาเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญโดยกลุ่มคน 3 ชนเผ่า
สโตนเฮนจ์เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อราว 3,100 ปีก่อนคริสต์ศักราชหรือราว 5,100 ปีก่อนซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซาที่อียิปต์ถึง 500 ปี การก่อสร้างขั้นตอนแรกเป็นการขุดคูน้ำและทำคันดินรูปวงกลมที่เป็นโครงสร้างชั้นนอกสุด รวมทั้งการขุดหลุมด้านในตามแนวคันดินจำนวน 56 หลุม เชื่อกันว่ามีการปักไม้ลงในหลุมเหล่านี้ซึ่งเป็นรูปแบบของการสร้าง “Henge” ของคนสมัยนั้น ผู้ที่สร้างสโตนเฮนจ์ในขั้นตอนแรกนี้เชื่อว่าเป็นชนเผ่า Windmill ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งราบ Salisbury ในช่วงเวลานั้น
การก่อสร้างในเฟสที่สองเริ่มขึ้นเมื่อราว 2,150 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยชนเผ่า Beaker ในขั้นตอนนี้เป็นการนำหิน Bluestone จากภูเขา Preseli Hills ที่อยู่ห่างออกไป 250 กิโลเมตรมาติดตั้ง เชื่อกันว่ามีการขนย้ายหินผ่านทางทะเลมาขึ้นที่เมือง Bristol แล้วล่องมาทางแม่น้ำ Avon มายังสถานที่ก่อสร้าง
ส่วนการก่อสร้างในเฟสที่สามกระทำโดยชนเผ่า Wessex เริ่มขึ้นเมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นการนำหิน Sarsen stones ที่หนักก้อนละหลายสิบตันจากป่า West Woods มาติดตั้งซึ่งคาดว่าในการขนย้ายน่าจะใช้ท่อนซุงใหญ่รองรับก้อนหินในลักษณะเป็นลูกกลิ้ง การพยายามทำภารกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญที่ต้องใช้เวลานับพันปีให้สำเร็จนี้จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างยิ่งและนักโบราณคดีจะต้องพยายามไขปริศนานี้ให้สำเร็จ
สุสานของบุคคลสำคัญสมัยโบราณ
มีหลักฐานชี้ชัดว่าสโตนเฮนจ์เป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสำคัญบางอย่าง ทฤษฎที่เป็นไปได้อย่างแรกคือเป็นสุสานของบุคคลสำคัญ มีการขุดพบกระดูกของมนุษย์ที่มีอายุย้อนหลังไปในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขุดคูน้ำทำคันดินและพบกระดูกของมนุษย์ต่อเนื่องไปอีกราว 500 ปี นอกจากนี้ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่ามีผู้คนพักอาศัยอยู่ที่บริเวณสโตนเฮนจ์ จึงอาจเป็นไปได้ว่าในช่วงแรกสโตนเฮนจ์อาจถูกใช้เป็นสุสานฝังศพของบุคคลสำคัญในชนเผ่าเป็นเวลานานหลายร้อยปี
ห่างจากสโตนเฮนจ์ไปเพียง 3.2 กิโลเมตรมีสถานที่สำคัญยุคเดียวกันอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า Durrington Walls ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างคล้ายกับสโตนเฮนจ์แต่ใช้ไม้แทนหินหรือเป็น Woodhenge สองจุดนี้มีทางเดินและแม่น้ำ Avon เชื่อมถึงกัน ที่บริเวณ Woodhenge มีการพบหลักฐานว่าผู้คนไปกินเลี้ยงกันที่นั่นแต่ที่สโตนเฮนจ์ไม่มี นักโบราณคดีเชื่อว่าสถานที่สองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ประกอบพิธีกรรมซึ่งมีการใช้ประโยชน์กันคนละแบบแต่มีความเชื่อมโยงกันผ่านเส้นทางที่เชื่อมระหว่างกัน Woodhenge เป็นสถานประกอบพิธีสำหรับคนเป็น ส่วนสโตนเฮนจ์เป็นสถานประกอบพิธีสำหรับคนตาย การเดินทางตามแม่น้ำ Avon เพื่อไปยังสโตนเฮนจ์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมจากชีวิตสู่ความตายเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษในอดีตและผู้เสียชีวิต
สถานที่บำบัดความเจ็บป่วยยุคแรก
อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าสโตนเฮนจ์เป็นเหมือนกับโรงพยาบาลสมัยโบราณหรือสถานที่บำบัดความเจ็บป่วยยุคแรกๆของมนุษย์ ส่วนหนึ่งของความเชื่อในทฤษฎีนี้มาจากอิทธิฤทธิ์ในด้านการช่วยรักษาความเจ็บป่วยของ Bluestone ผู้คนในยุคหนึ่งเชื่อว่า Bluestone มีพลังพิเศษที่สามารถช่วยให้หายป่วยหรือหายจากการบาดเจ็บได้โดยการอาบน้ำที่ผ่านการล้างหินวิเศษนี้มาแล้วหรือเอาน้ำนั้นผสมกับสมุนไพรบางอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
แต่ในทางโบราณคดียังพบหลักฐานที่บริเวณใกล้เคียงกับสโตนเฮนจ์อันเป็นเบาะแสในเรื่องนี้ มีการค้นพบกระดูกของชายวัยรุ่นที่มีฐานะร่ำรวยซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากเยอรมนีกับพบโครงกระดูกของชายชื่อ Amesbury Archer ที่เป็นฝีที่รากฟันและติดเชื้อที่เข่าซึ่งพบพร้อมกับสมบัติมากมาย (รูปข้างล่าง) ทั้งสองกรณีนี้มีหลักฐานว่าพวกเขามีความมั่งคั่ง เจ็บป่วย และมาจากต่างประเทศ พวกเขาดั้นด้นเดินทางไกลมาเพื่อต้องการอาศัยพลังอำนาจพิเศษของสโตนเฮนจ์รักษาตัวนั่นเอง นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าสิ่งนี้คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการสร้างสโตนเฮนจ์ขึ้นมา
หรือจะเป็นปฏิทินของมนุษย์ยุคหิน
ทฤษฎีที่สามเชื่อว่าสโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางดาราศาสตร์และอาจเป็นปฏิทินของมนุษย์ยุคหินใหม่ก็เป็นได้ ทฤษฎีนี้มีความน่าเชื่อถือสูงมากเนื่องจากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปัจจุบันก็ยังสามารถเห็นได้ การวางตำแหน่งของแท่งหินที่สโตนเฮนจ์มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับทางดาราศาสตร์ที่แม่นยำอย่างเหลือเชื่อ ในวันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปีและเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน ถ้าไปยืนสังเกตที่ Altar Stone ในสโตนเฮนจ์จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นที่ยอดของ Heel Stone พอดี แสดงว่ามนุษย์เมื่อห้าพันปีก่อนมีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์สามารถสังเกตฤดูกาลได้และสโตนเฮนจ์ก็คือเครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญของพวกเขา
นอกจาก Heel Stone และ Altar Stone ที่ใช้กำหนดวันครีษมายันแล้วหิน 4 แท่งในแนวของ Aubrey holes ยังสามารถใช้ในการคำนวณวันสำคัญอื่นๆในทางดาราศาสตร์ได้อย่างแม่นยำได้แก่ วันเหมายัน (winter solstice) – วันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี, วันวสันตวิษุวัต (spring equinox) และวันศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ซึ่งสองวันหลังนี้คือวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี รวมทั้งยังสามารถกำหนดวันสำคัญในสมัยโบราณได้แก่วัน Imbolc วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ, วัน Lammas วันเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว และวัน Samhain ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมซึ่งเป็นประเพณีที่มีการนำสัตว์เลี้ยงมาฆ่าบูชายัญที่ต่อมากลายเป็นวันฮาโลวีน นี่คือความมหัศจรรย์ส่วนหนึ่งของสโตนเฮนจ์จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในวันครีษมายันของทุกปีจะมีผู้คนนับหมื่นไปรวมตัวกันที่สโตนเฮนจ์เพื่อชมดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือแท่งหิน Heel Stone
ถึงแม้ว่ายังไม่มีความกระจ่างชัดชนิดฟันธงได้ว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์และสร้างขึ้นเพื่ออะไร บางทีผู้สร้างอาจมีวัตถุประสงค์หลายอย่างไม่ใช่อย่างเดียวหรือวัตถุประสงค์อาจเปลี่ยนแปลงไปตามการก่อสร้างที่เพิ่มเติมขึ้นซึ่งคงเป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีที่ต้องจะคลี่คลายปริศนานี้ต่อไป แต่ความพิเศษมหัศจรรย์และสเน่ห์ที่เหมือนมีมนต์ขลังของสโตนเฮนจ์นั้นได้ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศอังกฤษและในโลก หลายคนหวังว่าคงมีสักวันหนึ่งที่จะได้ไปเห็นความมหัศจรรย์นี้ด้วยตาของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันครีษมายัน
ข้อมูลและภาพจาก mysteryofstonehenge, wikipedia, livescience