หมึกยักษ์ฝันได้จริงหรือไม่? ถ้าจริงจะรู้ได้อย่างไรว่ามันกำลังฝันอยู่

หมึกสายหรือหมึกยักษ์ (Octopus) ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีสมองฉลาดที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทั้งหมด อีกทั้งยังมีความสามารถอันยอดเยี่ยมหลายอย่างทั้งการพรางตัว การล่า การหนี การวางแผน และการแก้ปัญหา ล่าสุดนักวิจัยพบว่ามันมีพฤติกรรมการนอนหลับที่มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์และมีบางอย่างบ่งชี้ว่ามันอาจจะฝันได้ด้วย

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกเท่านั้นที่มีสถานะการนอนหลับที่แตกต่างกันสองสถานะคือช่วงหลับธรรมดา (Non-REM Sleep) และช่วงหลับฝัน (REM Sleep) ช่วงหลับธรรมดาเป็นช่วงตั้งแต่เริ่มง่วงจนเคลิ้มหลับถึงหลับลึกเป็นการหลับอย่างสงบจึงเรียกอีกอย่างว่า Quiet Sleep ส่วนช่วงหลับฝันจะเป็นช่วงที่ร่างกายนอนหลับแต่สมองทำงานใกล้เคียงกับตอนที่ตื่นและมีการเคลื่อนไหวไปมาของลูกตาอย่างรวดเร็วจึงเรียกว่าการนอนแบบ REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นเวลาที่ความฝันส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้น การหลับแบบ REM เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Active sleep

ต่อมามีการพบว่าสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดมีสถานะการหลับทั้งแบบ REM และ non-REM รวมทั้งมีการค้นพบสถานะการหลับที่คล้าย REM ในหมึกกระดอง (Cuttlefish) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกปลาหมึกเหมือนกับหมึกยักษ์ จึงทำให้ทีมวิจัยที่สถาบัน Brain Institute of the Federal University ประเทศบราซิลสงสัยว่าอาจมีสถานะการหลับสองแบบในหมึกยักษ์ด้วยเนื่องจากหมึกยักษ์มีระบบประสาทส่วนกลางมากที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีความสามารถในการเรียนรู้สูง

เพื่อหาคำตอบนักวิจัยได้บันทึกวิดีโอของหมึกในห้องแล็บและพัฒนาแบบทดสอบการกระตุ้นด้วยภาพและการกระตุ้นทางกลเพื่อวัดการตอบสนองของมันในจุดต่างๆตลอดช่วงการนอนของหมึกยักษ์ พวกเขาพบว่าหมึกยักษ์มีการสถานะการหลับทั้งแบบ Quiet Sleep และ Active sleep โดยในช่วง Quiet Sleep หมึกยักษ์จะสงบมาก ผิวซีด และรูม่านตาหดเป็นร่อง ส่วนในช่วง Active sleep มันจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสีผิวและลักษณะของผิวรวมทั้งเคลื่อนไหวลูกตาอยู่ตลอด และมีการหดปุ่มดูดและร่างกายด้วยการกระตุกกล้ามเนื้อพร้อมกันไปด้วย Active sleep มักเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆหลังจาก Quiet Sleep เป็นเวลานานอย่างน้อยหกนาทีขึ้นไปและมักจะเกิดซ้ำทุกๆ 30 – 40 นาที

“เป็นไปไม่ได้ที่จะยืนยันว่าหมึกยักษ์กำลังฝันเพราะพวกมันไม่สามารถบอกเราได้ แต่ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าในช่วง Active sleep หมึกยักษ์มีสภาวะที่คล้ายกับการนอนหลับแบบ REM ซึ่งเป็นสภาวะที่มนุษย์ฝันมากที่สุด” Sylvia Medeiros หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “ถ้าหมึกยักษ์ฝันจริงก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกมันจะได้สัมผัสกับเรื่องราวที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์ Active sleep ในหมึกยักษ์มีระยะเวลาสั้นมากไม่ถึงหนึ่งนาที หากในช่วงนี้มีความฝันเกิดขึ้นก็ควรจะเป็นเหมือนคลิปวิดีโอสั้นๆหรือภาพเคลื่อนไหวแบบไฟล์ GIF มากกว่า”

นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้มีความน่าสนใจในแง่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้ วิวัฒนาการการนอนหลับ และความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างการนอนหลับและการรับรู้ของสัตว์จำพวกนี้ และทีมวิจัยยังต้องการที่จะทำการวิจัยต่อไปเพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสัตว์กำลังนอนหลับ

“มันเป็นเรื่องน่าดึงดูดใจที่จะคาดเดาว่าการฝันในปลาหมึกอาจช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้เช่นเดียวกับในมนุษย์” Sidarta Ribeiro ทีมวิจัยอีกคนหนึ่งกล่าว “หมึกยักษ์มีฝันร้ายหรือไม่ ความฝันของปลาหมึกจะถูกจารึกไว้บนรูปแบบและสีผิวที่มีชีวิตชีวาของพวกมันได้หรือไม่ เราจะเรียนรู้ที่จะอ่านความฝันของพวกมันโดยการหาจำนวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้หรือไม่”

 

ข้อมูลและภาพจาก treehugger, theconversation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *