เด็กธรรมดาที่เป็นบัณฑิตไม่ธรรมดา
สตีเฟน ฮอว์กิง เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1942 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษในครอบครัวนักวิชาการ พ่อเป็นนักวิจัยด้านการแพทย์ส่วนแม่ซึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่เดียวกับพ่อมีอาชีพเป็นครู ช่วงที่ฮอร์กิงเรียนหนังสือชั้นประถมและมัธยมเขามีผลการเรียนระดับปานกลางส่วนใหญ่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งห้องด้วยซ้ำ แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่จดจำของเพื่อนๆคือเขาสนใจในเรื่องกลไกนาฬิกาและระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เขากับเพื่อนชอบประดิษฐ์พวกเกมที่ซับซ้อน รวมทั้งยังเคยประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์จากชิ้นส่วนนาฬิกา แผงโทรศัพท์เก่า และส่วนประกอบอื่นจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อนๆได้ตั้งฉายาให้เขาว่า “Einstein” อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปฮอว์กิงก็เริ่มฉายแววความเก่งกาจโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่เขาชอบเป็นพิเศษ และในปี 1959 เขาสามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้สำเร็จ
ความจริงพ่ออยากให้เขาเรียนแพทย์ส่วนตัวฮอว์กิงเองอยากเรียนคณิตศาสตร์ แต่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดไม่เปิดสอนเขาจึงเลือกเรียนวิชาฟิสิกส์ ช่วงปีแรกๆในรั้วมหาวิทยาลัยฮอว์กิงรู้สึกเบื่อและเหงาขณะที่เขารู้สึกว่าวิชาที่เรียนนั้นง่ายมาก ปีหลังๆเขาจึงเปลี่ยนไปทำกิจกรรมเพื่อความสนุกและท้าท้ายหลายอย่าง รวมทั้งเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีมเรือพายของมหาวิทยาลัยด้วย ปี 1962 ฮอว์กิงเรียนจบปริญญาตรีด้วยคะแนนยอดเยี่ยมได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จากนั้นเขาจึงไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาที่มหาวิทยาแคมบริดจ์ ฮอว์กิงสำเร็จปริญญาเอกในปี 1966 ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง Properties of Expanding Universes ซึ่งมีการนำทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Albert Einstein มาใช้อธิบายได้อย่างชาญฉลาด (วิทยานิพนธ์นี้ได้รับการเผยแพร่ให้อ่านได้ฟรีทางออนไลน์ตั้งแต่ปี 2017 และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม) ฮอว์กิงได้เป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาแคมบริดจ์ทันทีที่เรียนจบ นอกจากนี้บทความเรื่อง “Singularities and the Geometry of Space–Time” ของเขายังคว้ารางวัล Adams Prize อันทรงเกียรติของมหาวิทยาลัยในปีเดียวกันด้วย
โชคร้ายมาเยือนพร้อมกับเพื่อนคู่ใจ
ในปี 1962 ขณะมีอายุ 21 ปีฮอว์กิงได้พบกับ Jane Wilde นักศึกษาสาวด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนในงานปาร์ตี้ของเพื่อนนักศึกษาครั้งหนึ่ง ทั้งคู่เริ่มคบหาและกลายเป็นคู่รักกันในเวลาต่อมา แต่หลังจากที่พวกเขาพบกันเป็นครั้งแรกได้ไม่นานฮอว์กิงก็ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ขั้นร้ายแรง โรคนี้มีผลต่อเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังซึ่งจะทำให้เขาเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย ฮอว์กิงพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติตั้งแต่ในช่วงปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาเริ่มซุ่มซ่ามมากขึ้นจนถึงขั้นตกบันได เขาประสบปัญหาในการพายเรือมากขึ้นทุกที รวมถึงมีปัญหาในการพูดที่เริ่มติดขัดไม่เหมือนเดิม ความเปลี่ยนแปลงของเขาถูกสังเกตพบโดยครอบครัวและนำไปสู่การไปพบแพทย์ แต่ที่น่าตกใจมากคือแพทย์บอกว่าเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น
ในช่วงเวลานี้ Jane คนรักที่เพิ่งคบหากันไม่นานคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขาต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป เธอไม่เพียงไม่ทอดทิ้งเขาแต่ยังตกลงใจอยู่กับเขาเผชิญหน้ากับความท้าทายในการใช้ชีวิตคู่ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายและอายุ ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1965 ในวันแต่งงานฮอว์กิงต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงร่างกายแล้ว ความสามารถทางร่างกายของเขาลดลงไปเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งเขาก็เดินไม่ได้ ตามมาด้วยเขียนหนังสือไม่ได้และพูดไม่ได้ในที่สุด เขากลายเป็นคนพิการแขนขาลีบเดินไม่ได้พูดไม่ได้แต่เขายังมีสมองที่เป็นเลิศและจิตใจที่เข้มแข็งไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้ร่างกายพิการแต่เขายังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยม ที่สำคัญที่สุดคือเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความปรารถนา ความฝัน และความทะเยอทะยานเหมือนกับคนอื่นๆ
ฮอว์กิงรับมือกับความพิการทางร่างกายด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยหลายอย่าง เขาใช้วีลแชร์แทนเท้าที่เดินไม่ได้และพอแขนไม่มีแรงพอที่จะหมุนล้อเขาก็ใช้วีลแชร์ไฟฟ้า เขาใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อความจากนั้นใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงผ่านทางซอฟต์แวร์แปลงข้อความเป็นเสียงช่วยให้สามารถสื่อสารกับคนอื่นหรือใช้สำหรับการบรรยายในห้องเรียน พอนิ้วของเขาใช้งานไม่ได้เขาก็ใช้อุปกรณ์พิเศษที่อาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตรงบริเวณแก้มพิมพ์ตัวหนังสือทีละตัวแทน เขาใช้วิธีนี้ในการเขียนบทความและหนังสือต่างๆด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างสูงมาก ยังดีที่ความตายไม่ได้มาเยือนเขาอย่างรวดเร็วดังที่แพทย์ประเมินไว้ เขามีชีวิตยืนยาวอีกหลายสิบปีมีลูกกับ Jane ถึงสามคน รวมทั้งมีผลงานการคิดค้นที่สำคัญหลายอย่างจนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์
เปิดมุมมองใหม่หลุมดำที่ไม่ดำสนิท
ฮอว์กิงเริ่มต้นทำงานวิจัยด้วยเรื่องที่ต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาเป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับภาวะเอกฐานหรือซิงกูลาริตี (Singularity) ซึ่งเป็นภาวะที่มวลสารถูกอัดแน่นจากแรงโน้มถ่วงของมวลปริมาณมหาศาลจนมีความหนาแน่นเป็นอนันต์อันถูกค้นพบจากสมการในทฤษฎีสัมพัทธภาพ ฮอว์กิงทำวิจัยเรื่องนี้ร่วมกับ Roger Penrose นักวิจัยรุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัย พวกเขาได้สร้างทฤษฎีภาวะเอกฐานที่ต่อมาเรียกว่า Penrose–Hawking singularity theorems ซึ่งระบุว่าภาวะเอกฐานไม่เพียงแต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจริงในเอกภพหรือจักรวาลเท่านั้นแต่ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงจักรวาลอาจเริ่มต้นด้วยภาวะเอกฐาน ผลงานนี้ของพวกเขานับเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาหลุมดำและจักรวาล จากนั้นฮอว์กิงได้ศึกษาวิจัยต่อในเรื่องหลุมดำและมีผลงานการค้นพบคุณสมบัติของหลุมดำหลายอย่างออกมา ปี 1971 บทความเรื่อง “Black Holes” ของเขาได้รับรางวัลจากสถาบันวิจัย Gravity Research Foundation
ปี 1973 ฮอว์กิงหันไปศึกษาเรื่องความโน้มถ่วงเชิงควอนตัมและกลศาสตร์ควอนตัม ผลจากการศึกษาในเรื่องนี้และจากการคำนวณอย่างละเอียดของเขาพบว่าหลุมดำมีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างจากความเชื่อเดิมโดยสิ้นเชิง ตามทฤษฎีแล้วหลุมดำเป็นบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมากจนไม่มีอะไรสามารถออกจากบริเวณนี้ได้แม้กระทั่งแสง มันจึงเป็นสิ่งที่ดำมืดสนิท จุดศูนย์กลางของหลุมดำเป็นภาวะเอกฐาน ขอบเขตของหลุมดำที่ไม่มีสิ่งใดสามารถหลุดออกมาได้นั้นเรียกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event Horizon) ก่อนหน้านี้ฮอว์กิงเคยมีผลงานวิจัยว่าขอบฟ้าเหตุการณ์จะไม่มีทางเล็กลงมีแต่ใหญ่ขึ้น แต่ผลจากการศึกษาและการคำนวณใหม่ของเขากลับพบว่าหลุมดำสามารถแผ่รังสีออกมาได้เรียกว่ารังสีฮอร์กิง (Hawking radiation) เหมือนหลุมดำมีการเรืองแสงน้อยๆไม่ถึงกับดำสนิทซึ่งจะทำให้หลุมดำสูญเสียมวลไปเรื่อยๆและยุบตัวเล็กลง ยิ่งเล็กลงเท่าใดก็จะยิ่งเกิดการแผ่รังสีฮอว์คิงมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการระเหยของหลุมดำ (Evaporation) ในขั้นสุดท้ายของการระเหยจะเกิดการระเบิดปลดปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมาและหลุมดำก็จะสูญสลายหายไป เพียงแต่ว่ากระบวนการนี้ใช้เวลานานมาก
พอฮอว์กิงเผยแพร่การค้นพบเรื่องนี้ออกไปครั้งแรกในปี 1974 ก็ได้สร้างความฮือฮาและเป็นที่ถกเถียงกันในวงการฟิสิกส์เป็นอย่างมาก จนกระทั่งถึงช่วงปลายทศวรรษ 1970 และหลังจากการตีพิมพ์งานวิจัยออกมาเพิ่มเติมทำให้เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าการค้นพบการแผ่รังสีของหลุมดำของฮอว์กิงเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในฟิสิกส์ทฤษฎี ตัวฮอว์กิงเองก็ได้รับการยอมรับในฐานะนักฟิสิกส์ผู้มีผลงานโดดเด่น เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) หลังจากการเผยแพร่เรื่องนี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้เป็นสมาชิกอันทรงเกียรตินี้ และเขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (CalTech) ในปีเดียวกันอีกด้วย ช่วงเวลานั้นฮอว์กิงต้องนั่งวีลแชร์มาระยะหนึ่งแล้วและเริ่มพูดไม่ค่อยชัดแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ผู้ประสบความสำเร็จ
ปี 1975 ฮอว์กิงกลับมาทำงานต่อที่มหาวิทยาแคมบริดจ์ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ฟิสิกส์ความโน้มถ่วง ในช่วงเวลานี้ผู้คนให้ความสนใจเรื่องหลุมดำกันมากขึ้น ฮอว์กิงในฐานะนักฟิสิกส์ที่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับหลุมดำที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งจึงได้รับการสัมภาษณ์ทางสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์เป็นประจำกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง และเขายังได้รับการยอมรับทางวิชาการในผลงานของเขามากยิ่งขึ้น เขาได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆมากมายรวมทั้งรางวัล Albert Einstein Medal เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์ความโน้มถ่วงในปี 1977 และในปี 1979 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมธีลูเคเชียน (Lucasian Professor of Mathematics) อันเป็นตำแหน่งสำคัญทางวิชาการของมหาวิทยาแคมบริดจ์และเป็นตำแหน่งที่ Isaac Newton นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเคยครองอย่างยาวนานเป็นคนแรกๆ ฮอว์กิงดำรงตำแหน่งนานถึง 30 ปี
ส่วนในด้านงานวิจัยฮอว์กิงก็ยังคงมีผลงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเด็นการไขความลี้ลับของหลุมดำและจักรวาลอันเป็นเรื่องที่เข้าใจและพิสูจน์ได้ยากอย่างยิ่ง ปี 1981 เขาได้เสนอแนวคิดอันเกิดจากการคำนวณโดยการรวมกันของกลศาสตร์ควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปว่าข้อมูลทางกายภาพอาจหายไปอย่างถาวรในหลุมดำซึ่งขัดกับหลักทฤษฎีควอนตัมหรือที่เรียกกันว่าความขัดแย้งของการสูญเสียข้อมูลในหลุมดำ (Black hole information paradox) นำไปสู่การถกเถียงในหมู่นักฟิสิกส์อย่างยาวนานถึงปัจจุบัน ปี 1983 ฮอว์กิงกับ James Hartle นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันร่วมกันเสนอทฤษฎี Hartle–Hawking state ซึ่งเกี่ยวกับสถานะของจักรวาลก่อนยุคของพลังค์ (Planck epoch) ที่เป็นช่วงเวลาแรกสุดของประวัติศาสตร์ของจักรวาล ทฤษฎีนี้มีข้อเสนอที่สำคัญหลายอย่าง เช่น จักรวาลไม่มีขอบเขต, ก่อนเกิด Big Bang ไม่มีเวลา เป็นต้น ผลงานของฮอว์กิงช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลุมดำและจักรวาลวิทยาก้าวหน้าไปอย่างมากถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
หนังสือขายดีที่สุดที่คนอ่านน้อยที่สุด
นอกจากฮอว์กิงจะเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีอัจฉริยะที่สามารถไขความลี้ลับของหลุมดำและจักรวาลได้แล้ว เขายังมีความสามารถที่โดดเด่นมากอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนหนังสือ ปี 1982 เขาตัดสินใจที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับจักรวาลที่ผู้คนทั่วไปซึ่งไม่มีความรู้ทางฟิสิกส์มาก่อนสามารถเข้าถึงได้ในชื่อ A Brief History of Time ในช่วงเวลานี้โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโจมตีเขาถึงขั้นพูดไม่ได้แล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงและซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนหนังสือ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงสร้าง ต้นกำเนิด การพัฒนา และจุดจบของจักรวาล เขาเขียนถึงแนวคิดพื้นฐาน เช่น อวกาศและเวลา, โครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบเป็นจักรวาล (เช่น ควาร์ก) และแรงพื้นฐานที่ควบคุมมัน (เช่น แรงโน้มถ่วง) รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางจักรวาล เช่น บิ๊กแบงและหลุมดำ ตลอดจนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและกลศาสตร์ควอนตัมที่นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ใช้อธิบายจักรวาล และสุดท้ายเขาเขียนถึงการค้นหาทฤษฎีเอกภาพ (Theory of Everything) ที่ใช้อธิบายทุกสิ่งในจักรวาล
หนังสือ A Brief History of Time ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1988 และประสบความสำเร็จอย่างน่ามหัศจรรย์ หนังสือได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วติดอันดับหนังสือขายดีอย่างยาวนานหลายปีมียอดขายรวมถึงปัจจุบันราว 25 ล้านเล่มกลายเป็นหนังสือวิชาการที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าหนังสือถูกเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายไม่มีศัพท์เทคนิคมากมายแต่เนื้อหาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากมากอยู่ดี ดังนั้นแม้หนังสือจะมีผู้ซื้อจำนวนมหาศาลแต่ผู้ที่อ่านจนจบเล่มมีน้อยมาก คนจำนวนมากซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะมันทำให้เขาดูฉลาดขึ้นแต่ไม่เคยสนใจจะอ่านจริงจัง ฮอว์กิงเองเคยพูดติดตลกว่าหนังสือ A Brief History of Time อาจเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดแต่เป็นหนังสือที่คนอ่านน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหนังสือเล่มนี้ทำให้ฮอว์กิงเป็นที่รู้จักของคนทุกวงการทั่วโลกกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนี้ ตลอดชีวิตฮอว์กิงเขียนหนังสือหลายสิบเล่มมีหนังสือที่ได้รับความนิยมนอกเหนือจาก A Brief History of Time อีกมากมาย เช่น The Grand Design, The Universe in a Nutshell, Black Holes and Baby Universes และ The Theory of Everything: The Origin and Fate of the Universe เป็นต้น
อัจฉริยะพิการเซเลบดังมากอารมณ์ขัน
แม้ฮอว์กิงจะเป็นคนพิการต้องนั่งวีลแชร์ตลอดเวลาและยังต้องพูดโดยอาศัยเครื่องสังเคราะห์เสียงแต่เขากลับเป็นคนร่าเริงและมีอารมณ์ขันสูงมาก เขาบอกว่าสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่รอดของเขาคือการรักษาจิตใจที่กระตือรือร้นและการรักษาอารมณ์ขันเอาไว้ ฮอว์กิงชอบปล่อยมุกตลกอยู่เสมอๆทั้งตอนเลคเชอร์หรือตอนพบปะกับเพื่อนฝูงและผู้คนในทุกวงการ อย่างเช่นตอนไปรับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี Theresa May ที่กำลังมีปัญหาในการจัดการเรื่อง Brexit อย่างหนัก เขาพูดกับเธอว่า “ผมจัดการกับคำถามคณิตศาสตร์ยากๆอยู่ทุกวัน แต่โปรดอย่าขอให้ผมช่วยเรื่อง Brexit เลย” หรืออย่างตอนที่ถูกถามถึงความสุขที่ได้รับจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เขาก็ตอบว่า “ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับเซ็กส์ แต่ว่ามันคงอยู่ได้นานกว่า” ฮอว์กิงมักได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงหรือปรากฏกายในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น เรื่อง Star Trek: The Next Generation และ Futurama ในละครทีวีก็มีอย่างเช่นในเรื่อง The Simpsons รวมทั้งในภาพยนตร์สารคดีอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้เขายังมีโอกาสเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับภาวะไร้น้ำหนักโดยเที่ยวบินพิเศษที่จัดเตรียมสำหรับเขาโดยเฉพาะซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ชีวิตส่วนตัวของฮอว์กิงก็ใช่ว่าจะราบรื่นหลังจากแต่งงานอยู่กินกับ Jane มากกว่า 20 ปีปัญหาการแตกร้าวเริ่มปรากฏ Jane เกิดไปชอบพอและมีสัมพันธ์แบบเงียบๆกับ Hellyer Jones ที่เป็นคนรู้จักใกล้ชิดกับครอบครัวโดยที่ฮอว์กิงก็รับรู้และไม่ได้คัดค้าน ปี 1985 หลังจากที่ฮอว์กิงเข้ารับการรักษาโดยการเจาะคอ (Tracheotomy) เขาจำเป็นต้องมีพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ฮอว์กิงมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Elaine Mason พยาบาลคนหนึ่งของเขา ชีวิตครอบครัวของเขากับ Jane จึงมีปัญหาร้าวฉานมากยิ่งขึ้นจนถึงปี 1995 ทั้งคู่จึงหย่าขาดจากกัน หลังจากนั้นไม่นานเขาก็แต่งงานกับ Mason ในปีเดียวกัน ฮอว์กิงอยู่กับ Mason จนถึงปี 2006 จึงได้หย่ากันไปแบบเงียบๆ ฮอว์กิงกลับมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Jane และลูกหลานของเขาอีกครั้ง เขาได้ช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัวกลับคืนมาในช่วงบั้นปลายของชีวิต และ Jane ก็เป็นผู้ดูแลเขาจนกระทั่งถึงวันที่เขาจากไปในปี 2018 ขณะมีอายุ 76 ปี เรื่องราวชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของฮอว์กิงถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything ออกฉายในปี 2014
สตีเฟน ฮอว์กิงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของโลก ชีวิตของเขามีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสามสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลกอย่างน่าประหลาดใจ ปีที่เขาเกิดเป็นปีของการฉลองครบรอบ 300 ปีการจากไปของ Galileo Galile ช่วงที่ทำงานเขาดำรงตำแหน่งเมธีลูเคเชียนอย่างยาวนานเหมือนกับ Sir Isaac Newton และวันที่เขาเสียชีวิตก็ตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของ Albert Einstein แม้ว่าฮอว์กิงจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคของเขาอีกทั้งผลงานการค้นพบของเขาโดยเฉพาะในเรื่องรังสีฮอว์กิงก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้รับรางวัลโนเบลเนื่องจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎีต้องได้รับการยืนยันโดยข้อมูลเชิงสังเกตเสียก่อนและการสังเกตข้อมูลของหลุมดำเป็นเรื่องยากมาก อย่างไรก็ตามฮอว์กิงได้รับยกย่องอย่างสูงในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อัฐิของเขาถูกฝังไว้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เคียงข้างหลุมศพของ Sir Isaac Newton และ Charles Darwin
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, biography, royalsocietypublishing.org