1. มีชีวิตอยู่ได้ถึง 100 ปี
ล็อบสเตอร์มีอายุยืนยาวกว่าสัตว์ในตระกูลครัสเตเชียนชนิดอื่น การศึกษาในยุโรปพบว่าล็อบสเตอร์มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปีสำหรับตัวผู้และ 54 ปีสำหรับตัวเมีย และยังพบตัวเมียบางตัวมีอายุมากกว่า 70 ปี ล็อบสเตอร์มีการเจริญเติบโตต่อเนื่องไม่มีหยุด แต่ละครั้งที่มันลอกคราบและสร้างเปลือกใหม่ขนาดของมันจะใหญ่ขึ้น นอกจากนี้มันยังสามารถสร้างอวัยวะที่สูญเสียไป เช่น ก้ามหรือขา ขึ้นมาทดแทนได้ด้วย ล็อบสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้วัดได้ยาวมากกว่า 1 เมตร หนัก 20 กิโลกรัม และคาดว่ามีอายุมากกว่า 100 ปี
2. เป็นแมลงมากกว่าเป็นปลา
ถึงแม้เป็นสัตว์ทะเลเหมือนกันแต่ล็อบสเตอร์กับปลาต่างกันมาก ปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนล็อบสเตอร์เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โครงกระดูกภายนอกหรือเปลือกของพวกมันช่วยรองรับและปกป้องร่างกายจากภายนอกแบบเดียวกับแมลงซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมากกว่า ทั้งแมลงและล็อบสเตอร์อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา และภายในไฟลัมนี้มีชั้นครัสเตเชียนซึ่งมีล็อบสเตอร์อยู่ร่วมกันกับปูและกุ้ง
3. มีเลือดสีน้ำเงิน
ในเลือดของล็อบสเตอร์มีโมเลกุลที่เรียกว่าเฮโมไซยานิน (Hemocyanin) ที่นำออกซิเจนผ่านไปทั่วร่างกายของล็อบสเตอร์ เฮโมไซยานินประกอบด้วยทองแดงซึ่งทำให้เลือดมีสีน้ำเงิน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด เช่น หอยทากและแมงมุม ก็มีเลือดสีน้ำเงินเนื่องจากเฮโมไซยานินเช่นกัน แต่สำหรับเลือดของมนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆมีโมเลกุลของฮีโมโกลบินที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบซึ่งทำให้เลือดมีสีแดง
4. มีสีแตกต่างกันมากมาย
ล็อบสเตอร์ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล เทา เขียว และน้ำเงินผสมกัน สีของล็อบสเตอร์โดยทั่วไปจะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถพรางตัวจากผู้ล่าได้ แต่ปัจจัยทางพันธุกรรมสามารถทำให้เกิดสีที่ผิดปรกติ เช่น สีฟ้า สีเหลือง สีขาว หรือมีสองสีแยกส่วนคนละซีกร่าง ล็อบสเตอร์ที่มีสีเหล่านี้หายากมาก พวกสองสีแยกส่วนมีโอกาสที่จะได้เห็นหนึ่งใน 50 ล้าน ส่วนสีขาวหรือล็อบสเตอร์เผือกมีโอกาสเห็นเพียงหนึ่งใน 100 ล้านเท่านั้น แต่ไม่ว่าเป็นล็อบสเตอร์สีอะไรพอโดนต้มด้วยน้ำเดือดจะกลายเป็นสีแดงทั้งหมด
5. เคี้ยวอาหารที่กระเพาะ
ฟันของล็อบสเตอร์ไม่ได้อยู่ที่ปากแต่ไปอยู่ที่กระเพาะอาหารแทน อาหารของล็อบสเตอร์จะถูกย่อยโดยสิ่งที่เรียกว่า “gastric mill” ซึ่งดูเหมือนฟันกรามสามซี่ตั้งอยู่ด้านหลังของดวงตาและมีขนาดประมาณเม็ดวอลนัท เมื่ออาหารถูกย่อยจนละเอียดดีแล้วจะถูกส่งต่อไปยังกระเพาะอาหารอีกอันหนึ่งเพื่อการดูดซึมไปใช้ประโยชน์ต่อไป
6. อาจกินพวกเดียวกันเอง
ตามปกติแล้วล็อบสเตอร์จะกินปลาหรือหอยตัวเล็กและพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ที่พื้นทะเล เช่น ฟองน้ำและสาหร่าย แต่ในบางพื้นที่ที่มีล็อบสเตอร์หนาแน่นสูงและมีผู้ล่าไม่มากนักล็อบสเตอร์ก็จะกินพวกเดียวกันเอง ปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ในอ่าวเมน (Gulf of Maine) ที่ซึ่งการผสมผสานของน้ำอุ่น ช่วยทำให้ประชากรล็อบสเตอร์เพิ่มสูงขึ้นและยังมีการตกปลามากเกินไปจนปลาที่ล่าล็อบสเตอร์กินเป็นอาหารมีน้อยจึงกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ล็อบสเตอร์หันมากินพวกเดียวกัน
7. ผสมพันธ์ุหลังลอกคราบ
ล็อบสเตอร์ตัวเมียสามารถผสมพันธุ์ได้หลังจากที่มันลอกคราบแล้วเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเปลี่ยนเปลือกใหม่แล้วเธอจะส่งฟีโรโมนออกมาเพื่อให้ตัวผู้รู้ว่าเธอพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ หลังการผสมพันธุ์ตัวเมียจะเก็บสเปิร์มเอาไว้ก่อนไม่ได้ทำการปฏิสนธิในทันที เธอจะรอจนกว่ามีสภาวะที่เหมาะสมซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความเย็นของน้ำจึงจะนำสเปิร์มมาปฏิสนธิกับไข่ของเธอ บางครั้งล็อบสเตอร์เก็บสเปิร์มของตัวผู้ไว้นานถึงสองปีกว่าจะนำออกมาใช้
8. หาเหยื่อด้วยขาและขน
ล็อบสเตอร์มีสายตาไม่ดีแต่มีพัฒนาการทางประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและรสชาติสูง พวกมันใช้ขาและขนเล็กๆที่ขาในการจำแนกอาหารของพวกมัน สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับใช้ตรวจจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรืออาหารที่ละลายในน้ำ นอกจากนี้ล็อบสเตอร์ยังใช้หนวดที่อยู่ข้างหน้าดวงตาในการดมกลิ่นและติดตามอาหารจากระยะไกลอีกด้วย ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ทำให้ล็อบสเตอร์รับรู้กลิ่นได้แม่นยำมากจนสามารถค้นหากรดอะมิโนตัวเดียวได้โดยการดมกลิ่น และเมื่อกินเหยื่อขนบนขาด้านหน้าของล็อบสเตอร์จะช่วยทำให้พวกมันได้ลิ้มรสชาติอาหารได้อีกด้วย
9. สื่อสารผ่านน้ำปัสสาวะ
ถึงแม้จะฟังดูน่าประหลาดไม่น้อยแต่ล็อบสเตอร์สามารถสื่อสารกันได้โดยฉี่ใส่หน้ากัน มันปล่อยปัสสาวะออกจากต่อมซึ่งอยู่ที่โคนหนวด กลิ่นในปัสสาวะนี้สื่อความหมายหลายประการที่เกี่ยวข้องกับลำดับชั้นและการเลือกคู่ ล็อบสเตอร์ตัวผู้มีการสร้างลำดับชั้นผ่านการต่อสู้กัน พวกมันสามารถจดจำคู่ต่อสู้และสื่อสารแจ้งสถานะทางสังคมของตนเองผ่านสัญญาณปัสสาวะได้ การส่งสัญญาณนี้จะช่วยรักษาระเบียบสังคมที่จัดตั้งขึ้น สัญญาณปัสสาวะยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับล็อบสเตอร์ตัวเมียระหว่างการเลือกคู่ครองด้วย
10. เคยเป็นอาหารของนักโทษ
ในยุคอาณานิคมล็อบสเตอร์ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และถือว่า “ไม่มีรสชาติ” จึงมีเพียงคนจนและนักโทษเท่านั้นที่กินล็อบสเตอร์ มีนักโทษที่เมืองหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์เบื่อการกินล็อบสเตอร์มากจนต้องต่อสู้เพื่อให้ผ่านกฎที่ให้พวกเขาไม่ต้องกินล็อบสเตอร์เกินสามครั้งต่อสัปดาห์ สมัยนั้นล็อบสเตอร์มีราคาถูกมากจึงมักนิยมใช้เป็นปุ๋ย, อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม และเป็นเหยื่อตกปลา ตรงกันข้ามกับปัจจุบันนี้หากไม่เป็นเศรษฐีก็ยากที่จะได้ลิ้มรสชาติอันโอชะของล็อบสเตอร์กันบ่อยๆ
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, mualobster, howstuffworks