PowerWatch จะใช้ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างสองด้านของตัวเรือนในการสร้างไฟฟ้าขึ้นมาใช้งาน ปกติร่างกายมนุษย์จะรักษาอุณหภูมิภายในอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ความร้อนจะถูกส่งผ่านทางผิวหนัง ด้านหลังของตัวเรือนที่มาสัมผัสกับผิวหนังจะดูดซับความร้อนเอาไว้ ส่วนตัวเรือนด้านหน้าทำจากโลหะพิเศษที่ฝังฮีตซิงค์สำหรับระบายความร้อนเอาไว้ด้วย เพื่อให้ด้านหน้าเย็นกว่าด้านหลัง
ตราบเท่าที่มีความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิด้านหน้ากับด้านหลัง PowerWatch จะสามารถสร้างพลังงานที่เพียงพอต่อความจำเป็นใช้งาน ถ้าถอดนาฬิกาออกมันจะเข้าสู่ sleep mode ที่ใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาเวลาที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติ และกลับเข้าสู่การทำงานปกติเมื่อสวมกลับ
หน้าจอของ PowerWatch สามารถแสดงพลังงานที่ผู้ใช้ได้สร้างขึ้น รวมทั้งข้อมูลการติดตามสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การเผาผลาญแคลอรี ข้อมูลระหว่างนอนหลับ เป็นต้น PowerWatch สามารถติดต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทางบลูทูธ สามารถเปลี่ยนแบบหน้าจอได้ มีแอพส่งข้อมูลไปที่สมาร์ทโฟน รวมถึงต่อไปยังระบบคลาวด์ และยังกันน้ำได้ถึงความลึก 50 เมตรอีกด้วย
แม้ว่าจะยังไม่มีระบบแจ้งเตือนการมีสายเข้าขึ้นที่หน้าจอของ PowerWatch ซึ่งเป็นฟีเจอร์หลักอันหนึ่งของสมาร์ทวอทช์ทั่วไป แต่ PowerWatch มีจุดเด่นที่ความแม่นยำของระบบตรวจนับการเผาผลาญแคลอรีขณะออกกำลังกาย อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะอาศัยการคำนวณจากการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว แต่ PowerWatch ใช้เทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริกซึ่งจะให้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำมากกว่า
“เทคโนโลยีเทอร์โมอิเล็กทริกของเราใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือใช้แหล่งพลังงานภายนอกอีกต่อไป” Akram Boukai ซีอีโอของ Matrix Industries กล่าว
PowerWatch เปิดให้จองในราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะส่งสินค้าได้ราวเดือนกรกฏาคม 2017
ดูวิดีโอแนะนำ PowerWatch ได้ที่ด้านล่าง
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, gizmodo