สาวน้อยผู้มากพรสวรรค์หลายแขนง
อังเกลีคา เคาฟ์มัน เป็นชาวสวิส เกิดเมื่อปี 1741 ที่เมือง Graubünden ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ไปเติบโตในหลายเมืองของประเทศออสเตรียตามสถานที่ทำงานของพ่อซึ่งเป็นชาวออสเตรียที่ค่อนข้างยากจนแต่เป็นจิตรกรฝีมือดีเชี่ยวชาญการเขียนภาพเหมือนบุคคลและภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ ส่วนแม่ของเธอเชี่ยวชาญด้านภาษา เธอเริ่มเรียนการเขียนภาพกับพ่อของเธอเองและพัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว เธอเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์สูงมากมีโอกาสได้เขียนภาพของบุคคลสำคัญของเมืองตั้งแต่อายุแค่ 12 ปี ในขณะเดียวกันเธอเรียนรู้ด้านภาษาจากแม่ได้อย่างรวดเร็วเช่นกันจนสามารถพูดได้หลายภาษาทั้งภาษาเยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ
เคาฟ์มันมีพรสวรรค์ด้านศิลปะหลายแขนง นอกจากจะเป็นจิตรกรรุ่นเยาว์อนาคตไกลแล้วเธอยังเป็นนักเชลโลและนักร้องโอเปราที่เก่งพอจะพัฒนาเป็นนักร้องอาชีพได้ แต่เธอก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งในที่สุดเธอตัดสินใจเลือกเป็นจิตรกร ภาพเหมือนตัวเองตอนอายุ 13 ปีในชุดนักร้องโอเปราชื่อภาพ Self-portrait with a Sheet of Music เป็นผลงานชิ้นแรกๆของเธอที่ยังหลงเหลืออยู่ หลังจากที่แม่ของเคาฟ์มันเสียชีวิตในปี 1757 พ่อของเธอที่ตั้งใจจะฝึกฝนลูกสาวให้เป็นจิตรกรระดับแนวหน้าในอนาคตจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อิตาลีเพื่อที่ลูกสาวจะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ผลงานของศิลปินชั้นครูผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในเมืองต่างๆของอิตาลี
ติดตามพ่อตระเวนฝึกฝีมือทั่วอิตาลี
สองพ่อลูกเคาฟ์มันไปตั้งต้นที่เมืองมิลาน ฝ่ายพ่อทำงานเขียนภาพตามโบสถ์ ส่วนลูกฝึกฝีมือด้วยการคัดลอกผลงานภาพเขียนของศิลปินชั้นครูหลายคนและหนึ่งในนั้นย่อมหนีไม่พ้น Leonardo da Vinci บางครั้งเคาฟ์มันก็ไปช่วยพ่อเขียนภาพปูนเปียกที่โบสถ์บ้าง ปี 1762 พวกเขาย้ายไปเมืองฟลอเรนซ์ที่ซึ่งนอกจากได้ศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูในอดีตอย่างเคยแล้ว จิตรกรสาวน้อยยังได้แสดงฝีมือที่ยอดเยี่ยมเกินวัยจนได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ สถานีต่อไปของพวกเขาคือกรุงโรมที่เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะของโลก ที่กรุงโรมเคาฟ์มันได้เรียนรู้จากผลงานของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรวมทั้ง Raphael นอกจากนี้เธอยังได้รู้จักกับชุมชนชาวอังกฤษซึ่งเป็นโอกาสให้เธอได้พัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
การตระเวนฝึกฝีมือของเคาฟ์มันไม่ได้จบลงที่กรุงโรม เพราะเธอยังไปต่อที่เมืองสำคัญของอิตาลีอีกหลายเมืองได้แก่ เนเปิลส์ โบโลญญา และเวนิส ทุกๆที่ที่เธอไปเยือนผู้คนต่างชื่นชมกับพรสวรรค์และเสน่ห์ของเธอ ตลอดช่วงเวลาหลายปีในอิตาลีเคาฟ์มันได้ศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูในยุคเรอเนสซองส์และพัฒนาฝีมือจนเข้าขั้นระดับมืออาชีพโดยเฉพาะภาพเหมือนบุคคล พร้อมกันนั้นเธอได้รับงานเขียนภาพให้กับผู้ที่ชื่นชอบในฝีมือของจิตรกรหญิงหน้าใหม่อย่างเธอจนเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเป็นลำดับ มีผลงานที่น่าสนใจในช่วงนี้ได้แก่ภาพ Portrait of Winckelmann และ Portrait of David Garrick เป็นต้น ช่วงที่อยู่เมืองเวนิสเคาฟ์มันได้รับการชักชวนจาก Lady Wentworth ภริยาของเอกอัครราชทูตอังกฤษให้ไปกรุงลอนดอนด้วยกัน เคาฟ์มันเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีเธอจึงเดินทางไปสร้างชื่อที่ประเทศอังกฤษในปี 1766
จิตรกรภาพเหมือนชั้นนำแห่งอังกฤษ
ที่กรุงลอนดอนเคาฟ์มันได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและเธอได้แสดงฝีมือการเขียนภาพอันยอดเยี่ยมโดยเฉพาะภาพเหมือนบุคคลจนเป็นที่ชื่นชอบ มีสมาชิกในราชวงศ์และบุคคลชั้นสูงมานั่งเป็นแบบให้เธอเขียนภาพให้อย่างไม่ขาดสาย จนในที่สุดเธอกลายเป็นจิตรกรภาพเหมือนชั้นนำแห่งอังกฤษ ผลงานภาพเหมือนบุคคลที่โดดเด่นของเคาฟ์มันระหว่างที่อยู่ในอังกฤษได้แก่ภาพ Portrait of a Lady, Portrait of Eleanor, Countess of Lauderdale, The Family of the Earl of Gower รวมทั้งภาพ Self-Portrait (1775) ที่เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเธอ นอกจากนี้เธอยังเขียนภาพประวัติศาสตร์และเรื่องจากตำนานในสไตล์นีโอคลาสสิกที่เธอเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยตระเวนฝึกฝีมือที่อิตาลี มีผลงานเด่นอย่างเช่นภาพ Ariadne Abandoned by Theseus และ Sappho Inspired by Love เป็นต้น
เคาฟ์มันมีความสนิทสนมและเป็นเพื่อนที่ดีกับ Joshua Reynolds จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคของอังกฤษ ในปี 1768 เคาฟ์มันเป็นหนึ่งในสองศิลปินหญิงที่เป็นสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันศิลปะของอังกฤษ Royal Academy of Arts ที่มี Joshua Reynolds เป็นหัวแรงใหญ่และเป็นประธานสถาบันคนแรก หลังจากยุคของเคาฟ์มันแล้วต้องรออีกนานกว่า 150 ปีสถาบันแห่งนี้ถึงจะมีสมาชิกผู้หญิงคนต่อมา ที่อาคารของสถาบันเคาฟ์มันยังได้ฝากฝีมือเป็นภาพเขียนประดับผนังอาคารด้วยภาพชุด ‘Elements of Art’ ซึ่งประกอบด้วยภาพเขียน 4 ภาพได้แก่ภาพ Invention, Composition, Design และ Colour และเธอเป็นศิลปินที่มีผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการประจำปีของสถาบันเป็นประจำกว่าสิบปี ถือเป็นจิตรกรชั้นนำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอังกฤษคนหนึ่งในยุคนั้น
ชีวิตแต่งงานน่าผิดหวังและเจ็บปวด
เคาฟ์มันเป็นสาวสวยมากความสามารถมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูง เธอจึงเป็นที่หมายปองของหนุ่มโสดและไม่โสดทั้งหลาย เธอได้รับข้อเสนอแต่งงานจากผู้ชายฐานะดีหลายคนแต่เธอยังไม่ได้ตอบรับผู้ใดเลย จนกระทั่งได้รู้จักกับ Frederick de Horn หนุ่มที่แนะนำตัวเองต่อสังคมในกรุงลอนดอนว่าเป็นท่านเคาน์และเศรษฐีชาวสวีเดนผู้มั่งคั่ง ทั้งคู่แต่งงานกันราวปลายปี 1767 แต่หลังจากแต่งงานได้ไม่นานเคาฟ์มันก็รู้ว่าเธอถูกหลอก แท้จริงแล้วสามีของเธอไม่ใช่เศรษฐีแต่เป็นนักต้มตุ๋นผู้ยากไร้ต่างหาก เธอจึงต้องการจัดการให้การแต่งงานเป็นโมฆะแต่อีกฝ่ายไม่ยอม เขาเรียกร้องเงินจำนวนสูงมากจนเคาฟ์มันไม่สามารถจ่ายให้ได้ เธอจำต้องแยกทางกับสามีโดยที่สถานะทางกฎหมายยังคาราคาซังอยู่ การแต่งงานครั้งแรกของเธอจึงน่าผิดหวังและเจ็บปวดมาก มีข่าวเชิงลึกว่าศิลปินคนหนึ่งที่เคยถูกเคาฟ์มันปฏิเสธคำขอแต่งงานเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต้มตุ๋นครั้งนี้
ปี 1780 Frederick de Horn เสียชีวิตทำให้เคาฟ์มันสามารถแต่งงานใหม่ได้อย่างอิสระและเธอได้พบคนที่เหมาะสมภายในเวลาไม่นานนัก ปี 1781 เคาฟ์มันแต่งงานกับ Antonio Zucchi ศิลปินชาวอิตาลีที่มาทำงานในอังกฤษ ภาพเหมือนของสามีคนใหม่ Portrait of her husband, the painter Antonio Zucchi ที่เธอเขียนในปีเดียวกันนั้นก็เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่ง การแต่งงานใหม่ครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ เนื่องจากแม้ว่าเคาฟ์มันจะได้รับการยกย่องในฐานะจิตรกรภาพเหมือนแต่เธอต้องการเขียนภาพประวัติศาสตร์ด้วยซึ่งในอังกฤษไม่ค่อยนิยมมากนัก ผิดกับในอิตาลีที่ให้คุณค่าและความสำคัญมากกว่า เมื่อเธอแต่งงานกับชาวอิตาลีจึงเป็นความลงตัวและเป็นโอกาสที่เธอจะได้เขียนภาพประวัติศาสตร์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในที่สุดหลังจากทำงานอยู่อังกฤษนาน 15 ปีเธอจึงย้ายไปอยู่ที่อิตาลีอีกครั้งในปี 1782
ชื่อเสียงโด่งดังขจรไกลทั่วทวีปยุโรป
เคาฟ์มันและสามีได้มาปักหลักอาศัยอยู่ที่กรุงโรม เธอได้เขียนภาพประวัติศาสตร์สมใจและสร้างผลงานเลื่องชื่อหลายชิ้นอย่างเช่นภาพ The Sorrow of Telemachus และ Tragedy and Comedy เป็นต้น แต่เธอยังคงเขียนเหมือนบุคคลเป็นหลักอยู่เหมือนเดิมและมีผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมามากมาย โดยเฉพาะภาพ Self-portrait Hesitating between the Arts of Music and Painting ที่สะท้อนถึงความลำบากใจในการเลือกเส้นทางเดินของชีวิตระหว่างการเป็นจิตรกรกับนักร้องโอเปราสมัยเป็นวัยรุ่น รวมทั้งภาพ Anna Maria Jenkins; Thomas Jenkins, Portrait of Lady Elizabeth Foster และ Anna von Escher van Muralt ทำให้ชื่อเสียงของเธอยิ่งเลื่องลือมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีผู้นำภาพเขียนของเธอไปทำเป็นภาพพิมพ์ออกขายในหลายประเทศซึ่งยิ่งทำให้เคาฟ์มันเป็นที่รู้จักและชื่อเสียงโด่งดังขจรไกลไปทั่วทวีปยุโรป
เคาฟ์มันเป็นศิลปินหญิงที่โด่งดังและมีผลงานโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคนีโอคลาสสิก ตลอดกว่า 20 ปีที่อาศัยอยู่ในกรุงโรมบ้านของเธอกลายเป็นที่พบปะของบรรดาผองเพื่อนและผู้ที่ชื่นชอบในผลงานของเธอ รวมทั้งเพื่อนสนิทอย่าง Johann Wolfgang von Goethe กวีคนสำคัญชายเยอรมันและ Antonio Canova ประติมากรผู้โด่งดังแห่งยุค กรุงโรมเป็นสถานที่ที่เธอใช้เวลาอยู่ทั้งในช่วงปีแรกๆของการฝึกฝนและช่วงสุดท้ายของอาชีพจิตรกร เคาฟ์มันเสียชีวิตที่กรุงโรมในปี 1807 ด้วยวัย 66 ปี งานศพของเธอถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติของศิลปินคนสำคัญแห่งยุคมีความวิจิตรงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การเสียชีวิตของ Raphael ภายใต้การดูแลของ Antonio Canova เพื่อนสนิทของเธอเอง
ผลงานอมตะของศิลปินหญิงคนดัง
เคาฟ์มันได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะจิตรกรภาพเหมือนที่มีผลงานยอดเยี่ยมมาก แต่เธอยังเขียนภาพประวัติศาสตร์และเรื่องจากตำนานได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานอมตะของศิลปินหญิงชาวสวิสคนดังที่ไปสร้างชื่อที่กรุงลอนดอนและกรุงโรม
Early Works (1753 – 1766)
London Period (1766 – 1782)
Rome Period (1782 – 1794)
Later Years (1794 – 1807)
ในยุคนีโอคลาสสิกมีศิลปินหญิงเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงทัดเทียมกับศิลปินชาย อังเกลีคา เคาฟ์มันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนนั้น เธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินภาพเหมือนที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด เธอเป็นศิลปินหญิงที่โดดเด่นในวงการเคียงคู่กับ Élisabeth Louise Vigée Le Brun จิตรกรหญิงคนดังชาวฝรั่งเศส และทั้งคู่ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอีกด้วย
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, theartstory, encyclopedia