นกน้อยสวมแว่นตากันเลเซอร์ช่วยนักวิจัยค้นหาความลึกลับของการบิน

ก่อนที่พี่น้องตระกูลไรท์จะสร้างเครื่องบินได้สำเร็จ บรรดาวิศกรต่างนึกฝันถึงการบินเลียนแบบนก ถ้าเราเข้าใจการบินด้วยปีกอย่างแท้จริง ก็อาจสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการบินให้ดีขึ้นได้ ทั้งในเครื่องบินไอพ่นไปจนถึงโดรนขนส่ง

ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ใช้แสงเลเซอร์ในการทดสอบหลายทฤษฎีการบินของสัตว์ โดยให้นกแก้วบินผ่านม่านแสงเลเซอร์แล้ววัดความเคลื่อนไหวของอากาศ

เพื่อป้องกันดวงตาของเจ้านกแก้วตัวน้อยพันธุ์ Pacific parrotlet ที่ชื่อ Obi ถูกทำลายโดยแสงเลเซอร์ นักวิจัยจึงทำแว่นตากันแสงเลเซอร์ขนาดเล็กจิ๋วสร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติให้มันสวม แล้วฝึกให้มันบินขณะที่สวมแว่นตาด้วย

goggled-parrot-2

ในการทดสอบนักวิจัยฉีดสเปรย์ละอองหมอกไปในอากาศ ฉายแสงเลเซอร์ส่องในลักษณะเป็นแผ่นคล้ายกระดาษ ให้นกแก้วบินผ่านม่านหมอกที่ถูกสาดด้วยแสงเลเซอร์ แล้วบันทึกความเคลื่อนไหวของกระแสอากาศที่เกิดจากการขยับปีกของนกด้วยกล้องความเร็วสูง 1,000 เฟรมต่อวินาที

“การไหลเวียนของอากาศมันซับซ้อนและปั่นป่วนมากๆ” David Lentink วิศวรเครื่องกลหนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว จากการศึกษากลศาสตร์การบินครั้งนี้รวมกับเทคนิคในการวัดแรงยกที่ได้พัฒนาใหม่ให้ที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น พวกเขาได้เปรียบเทียบแบบจำลองมาตรฐานการบินของสัตว์ที่นิยมใช้กันสามแบบ พบว่าไม่มีแบบจำลองใดที่ถูกต้องตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเลย


 
จากข้อมูลที่ได้รับจากการทดสอบในครั้งนี้ นักวิจัยสามารถเริ่มพัฒนาแบบจำลองการบินใหม่ที่ถูกต้องแม่นยำซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการบินและหุ่นยนต์

วันหนึ่งข้างหน้าทีมวิจัยที่สแตนฟอร์ดอาจสามารถสร้างโดรนที่บินดีกว่าเดิม แล้วอย่าลืมความดีความชอบของเจ้านกแก้วน่ารัก Obi ด้วยนะ

 

ข้อมูลและภาพจาก  sciencenews, popularmechanics

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *