10 เรื่องน่าทึ่งของ “เพนกวิน” สัตว์แสนน่ารักแห่งโลกที่หนาวยะเยือก

เพนกวิน เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนชื่นชอบมาก ความน่ารักจากรูปร่างหน้าตาและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับท่าทางการเดินเตาะแตะงุ่มง่าม สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเมื่อได้พบเจอพวกมันที่สวนสัตว์ แต่ในชีวิตจริงเพนกวินมีเรื่องน่าสนใจมากมาย และจะยิ่งประทับใจเมื่อได้รู้เรื่องราวเหล่านั้นของพวกมัน และต่อไปนี้คือ 10 เรื่องน่าทึ่งของ “เพนกวิน” สัตว์แสนน่ารักแห่งโลกที่หนาวยะเยือก

 
1. อาศัยอยู่แต่เฉพาะในซีกโลกใต้

เพนกวินทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกอาศัยอยู่ในซีกโลกใต้ พวกมันชอบอยู่ในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะสายพันธุ์เพนกวินจักรพรรดินั้นอาศัยอยู่เฉพาะในทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณแถบขั้วโลกใต้ที่มีอากาศหนาวยะเยือกตลอดทั้งปี แต่มีเพนกวินสายพันธุ์หนึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่เกาะกาลาปากอสซึ่งตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เพนกวินกาลาปากอสจึงมีโอกาสข้ามเส้นศูนย์สูตรไปอยู่ในซีกโลกเหนือบ้างเป็นครั้งคราว คุณอาจเคยเห็นเพนกวินเจอกับหมีขั้วโลกในหนังการ์ตูน แต่ในโลกจริงพวกมันไม่มีโอกาสเจอกันแน่นอน เพราะหมีขั้วโลกอาศัยอยู่เฉพาะแถบขั้วโลกเหนือ ส่วนเพนกวินก็อาศัยอยู่เฉพาะซีกโลกใต้เท่านั้น

 
2. ตัวเล็กเท่าไก่ตัวใหญ่เกือบเท่าคน

เพนกวินมีทั้งหมด 18 สายพันธุ์ พวกมันมีความหลากหลายในเรื่องขนาดรูปร่างพอสมควร สายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกคือเพนกวินสีน้ำเงินน้อย (Little Blue Penguin) มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือเพนกวินจักรพรรดิ (Emperor Penguin) ซึ่งอาจสูงถึง 1.30 เมตร และหนักเกือบ 40 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการพบฟอสซิลเพนกวินอายุ 37 ล้านปีที่มีขนาดสูงเท่าคนหรือกว่า 1.80 เมตร และหนักกว่า 100 กิโลกรัม

 
3. มีขนพิเศษต่อสู้กับความหนาวเย็น

เพนกวินสามารถทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรงที่สุดในโลกและมหาสมุทรที่หนาวเย็นที่สุด พวกมันมีอวัยวะและการปรับตัวหลายอย่างเพื่อการนี้ หนึ่งในนั้นคือการมีขนพิเศษเพื่อต่อสู้กับความหนาวเย็น ขนของเพนกวินที่เงางามซ้อนทับกันอย่างสม่ำเสมอเป็นขนนกไม่ใช่ขนปุยแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่พิเศษตรงที่ขนาดสั้น กว้าง และอยู่ชิดกันมาก โดยมีขนประมาณ 100 ขนต่อตารางนิ้ว ขนของเพนกวินเป็นฉนวนกักเก็บความร้อนของร่างกายและป้องกันความหนาวเย็นได้อย่างดีเยี่ยม และมันยังมีต่อมผลิตไขมันชนิดพิเศษที่ช่วยให้ขนมันลื่นไม่เป็นน้ำแข็ง เพนกวินมีการผลัดขนใหม่ปีละครั้ง เพนกวินยังมีวิธีการต่อสู้กับความหนาวเย็นอีกหลายวิธี เช่น การอยู่รวมฝูงใหญ่เบียดชิดกันเพื่อให้มีเฉพาะตัวที่อยู่รอบนอกต้องเผชิญลมหนาวจากนั้นก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาหลบลมอยู่ด้านในฝูง

 
4. สวมชุดทักซิโดเพื่อการพรางตัว

เพนกวินมีขนด้านหน้าหรือท้องสีขาวส่วนด้านหลังเป็นสีดำ ถูกเปรียบเทียบว่าพวกมันกำลังสวมชุดทักซิโดสุดเท่อยู่ อันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของมันที่ผู้คนชื่นชอบและจดจำได้ดี แต่สีขนลักษณะนี้ของมันเป็นการพรางตัวที่แยบยลในยามที่พวกมันแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทร หลังสีดำทำให้ถูกมองเห็นได้ยากเมื่อมองจากด้านบนเพราะกลมกลืนกับมหาสมุทรสีเข้มที่อยู่เบื้องล่าง ในขณะที่เมื่อมองจากด้านล่างของทะเลขึ้นมาสีขาวของหน้าท้องจะกลมกลืนกับแสงสว่างจ้าที่สาดส่องลงมา สิ่งนี้ช่วยให้มันรอดพ้นจากสายตาของศัตรู

 
5. บินไม่ได้แต่ว่ายน้ำเร็วเหลือเชื่อ

เพนกวินเป็นนกที่บินไม่ได้ ทำได้อย่างเก่งก็แค่พุ่งถลาร่อนจากบนฝั่งลงทะเลหรือจากใต้ทะเลขึ้นบนฝั่ง แต่ยามเพนกวินอยู่ในน้ำมันกลับว่ายน้ำได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ เพนกวินล่าสัตว์น้ำจำพวก กุ้ง ปลา ปลาหมึก เป็นอาหาร ดังนั้นการเคลือนที่ในน้ำจึงต้องมีความรวดเร็วคล่องตัวมากพอที่จะจับเหยื่อของมันได้ เพนกวินเจนทู (Gentoo Penguin) เป็นสายพันธุ์ที่ว่องไวมากสามารถทำความเร็วได้ถึง 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพนกวินไม่เพียงมีรูปร่างที่ปราดเปรียวและขนที่เรียบลื่น ที่สำคัญปีกของมันถูกพัฒนาจนเป็นเหมือนครีบหรือตีนกบที่ช่วยให้ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว เท้าที่เป็นพังผืดก็มีส่วนช่วยในการว่ายน้ำด้วย

 
6. ดำน้ำลึกมากแถมดื่มน้ำเค็มได้

เพนกวินไม่เพียงว่ายน้ำเก่งมันยังดำน้ำเก่งมากด้วย โดยเฉลี่ยเพนกวินดำน้ำลึก 20 เมตรได้สบายๆ แต่สำหรับเพนกวินจักรพรรดิสามารถดำน้ำได้ลึกมากกว่า 500 เมตร มีสถิติน่าทึ่งของเพนกวินจักรพรรดิตัวหนึ่งสามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 1,800 เมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้เพนกวินยังสามารถดื่มน้ำเค็มได้ด้วย เพนกวินกินเหยื่อใต้ทะเลดังนั้นในแต่วันพวกมันจึงดื่มน้ำทะเลเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเพนกวิน ต่อมพิเศษตรงเหนือตาของพวกมันทำหน้าที่กรองเกลือออกจากกระแสเลือดและขับออกมาโดยการจาม

 
7. นักเดินระยะไกลที่ยอดเยี่ยม

ตอนอยู่ในน้ำเพนกวินเคลื่อนไหวได้รวดเร็วคล่องแคล่ว แต่ยามอยู่บนบกดูเหมือนพวกมันจะเชื่องช้ามาก ด้วยลักษณะการเดินเตาะแตะเป๋ไปเป๋มาเหมือนไม่ค่อยมั่นคง ทำให้รู้สึกว่าตอนอยู่บนบกเพนกวินคงไปไหนได้ไม่ไกล แต่เอาเข้าจริงพวกมันกลับเป็นนักเดินระยะไกลที่ยอดเยี่ยม เพนกวินส่วนใหญ่สามารถเดินระยะไกลไปยังรังและพื้นที่เพาะพันธุ์ได้ในทุกภูมิประเทศ โดยเฉพาะเพนกวินจักรพรรดิสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไกลกว่า 100 กิโลเมตร และเมื่อต้องเดินทางบนพื้นหิมะพวกมันยังมีเทคนิคสไลด์ตัวลื่นไถลไปบนพื้นหิมะได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

 
8. ตัวผู้เกี้ยวตัวเมียด้วย “ก้อนหิน”

สัตว์ตัวผู้มีวิธีเกี้ยวตัวเมียมากมายหลายแบบ มีเพนกวินอยู่หลายสายพันธุ์ที่ตัวผู้จีบตัวเมียโดยการให้ก้อนหิน และวิธีนี้ก็ได้ผลดีเสียด้วยเพราะมันสร้างความประทับใจให้กับตัวเมียได้ดีเลยทีเดียว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเพนกวินพวกนี้สร้างรังด้วยก้อนหินนั่นเอง พอมีการสร้างรังพร้อมๆกันทำให้เกิดภาวะก้อนหินขาดแคลน ก้อนหินกลายเป็นสิ่งที่ตัวเมียปรารถนาอย่างมาก และนี่ก็คือที่มาของการที่ตัวผู้จีบตัวเมียโดยการเอาก้อนหินไปให้ ตัวผู้ยังพยายามสร้างความประทับใจให้ตัวเมียด้วยทักษะการสร้างรัง และอาจถึงขั้นขโมยก้อนหินจากเพื่อนบ้าน

 
9. ตัวผู้ฟักไข่ตัวเมียออกหาอาหาร

เพนกวินจักรพรรดิมีการแบ่งหน้าที่ดูแลลูกที่น่าประหลาดใจไม่น้อย ในแต่ละฤดูกาลตัวเมียจะวางไข่เพียงฟองเดียว เมื่อตัวเมียวางไข่แล้วจะส่งมอบไข่ให้ตัวผู้ทำหน้าที่ฟักไข่ เพนกวินตัวผู้จะปกป้องและให้ความอบอุ่นแก่ไข่โดยวางไข่อยู่ในถุงฟักไข่ตรงหน้าท้องเหนือเท้า การฟักไข่ใช้เวลาราว 2 เดือนภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างมาก ระหว่างนี้ตัวเมียจะออกไปหาอาหารในทะเลจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว ส่วนตัวผู้ไม่กินอะไรเลยจนกว่าตัวเมียจะกลับมาเพื่อนำอาหารมาให้ลูกที่ฟักแล้ว การเฝ้าประคบประหงมลูกน้อยของมันตลอดเวลานี้ทำให้ตัวผู้มีน้ำหนักลดถึง 12 กิโลกรัม

 
10. รักเดียวใจเดียวไม่เปลี่ยนคู่ครอง

แม้เพนกวินจะไม่ใช่สัตว์ที่รักเดียวใจเดียวไม่เปลี่ยนคู่ครองตลอดชีวิต (อายุขัยเฉลี่ยราว 15 -20 ปี) แต่สำหรับในฤดูผสมพันธุ์หนึ่งเมื่อเลือกคู่แล้วเพนกวินจะไม่เปลี่ยนคู่ของพวกมัน มีเพนกวินหลายสายพันธุ์ที่ตัวผู้ตัวเมียคู่เดิมจะอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานหลายปี เช่น เพนกวินเจนทูและเพนกวินร็อกฮอปเปอร์ และยังมีเพนกวินอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถกลับมาหาคู่เดิมของมันเจอในเกือบทุกฤดูผสมพันธุ์ หลังจากที่แยกย้ายกันไปอยู่กันคนละที่ระหว่างนอกฤดูผสมพันธุ์เป็นเวลาหลายเดือน

 

ข้อมูลและภาพจาก chimuadventures, insider, smithsonianmag

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *