10. หอยเม่นสีแดง (Red Sea Urchin) : 200 ปี
หอยเม่นสีแดงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทรงกลมขนาดเล็กมีหนามรอบตัว อาศัยอยู่ในน้ำตื้นตามหาดหินชายฝั่งมหาสมุทรแปซิกฟิกบริเวณที่มีสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารของพวกมัน หอยเม่นสีแดงเจริญเติบโตช้า ส่วนใหญ่มีอายุขัยมากกว่า 100 ปี แต่ในบางพื้นที่พวกมันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 200 ปี หอยเม่นสีแดงเป็นอาหารอันโอชะ ดังนั้นพวกมันจึงมักจบชีวิตไปก่อนอายุขัยเนื่องจากถูกล่าเป็นอาหาร การหาอายุของหอยเม่นสีแดงนิยมใช้วิธีการตรวจหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี
9. วาฬหัวคันศร (Bowhead Whale) : 200 ปีขึ้นไป
วาฬหัวคันศรเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนที่สุด พวกมันใช้ชีวิตในแถบอาร์กติกบริเวณขั้วโลกเหนือ จึงเป็นเรื่องยากในการศึกษาหาอายุขัยของพวกมัน แต่จากหลักฐานหลายอย่างยืนยันว่าพวกมันสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมากกว่า 200 ปี วาฬหัวคันศรมีกระบวนการบางอย่างที่ช่วยยืดอายุได้ พวกมันมียีนที่เรียกว่า PCNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเซลล์ ยีนนี้มีส่วนที่ทำซ้ำได้ซึ่งอาจช่วยชะลอการชราภาพ นอกจากนี้วาฬหัวคันศรยังมีการกลายพันธุ์ในยีนที่เรียกว่า ERCC1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายที่อาจช่วยปกป้องพวกมันจากการเป็นมะเร็ง
8. ปลาหินตาหนาม (Rougheye Rockfish) : 200 ปีขึ้นไป
ปลาหินตาหนามเป็นหนึ่งในปลาที่มีอายุยืนที่สุด ตามรายงานในงานวิจัยพวกมันมีอายุขัยอย่างน้อย 205 ปี ปลาหินตาหนามอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่แคลิฟอร์เนียไปจนถึงญี่ปุ่น เมื่อโตเต็มที่พวกมันมีขนาดตัวยาวถึง 97 เซนติเมตร ปลาหินตาหนามกินสัตว์อื่นๆ เช่น กุ้งและปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร ในงานวิจัยตรวจสอบจีโนมของปลาหินตาหนามพบว่าพวกมันมีระบบการทำงานของยีนที่ทำหน้าที่ซ่อมแซม DNA ที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งทำให้มีอายุขัยมากขึ้น อายุขัยที่ยืนยาวขึ้นช่วยให้ปลาหินตาหนามเติบโตและออกลูกดกมากขึ้น
7. หอยมุกน้ำจืด (Freshwater Pearl Mussel) : 250 ปีขึ้นไป
หอยมุกน้ำจืดเป็นหอยสองฝาขนาดใหญ่เปลือกหนา อาศัยอยู่ในแม่น้ำและลำธารพบได้ทั่วไปในหลายทวีปทั่วโลก พวกมันเติบโตช้ามาก กินอาหารโดยวิธีการกรองอนุภาคอินทรีย์ขนาดเล็กจากน้ำที่สูบเข้าไป หอยมุกน้ำจืดที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยพบมีอายุ 280 ปี สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้มีอายุยืนยาวเนื่องจากเมแทบอลิซึมต่ำ หอยมุกน้ำจืดนอกจากพบในธรรมชาติแล้วยังมีการเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตไข่มุกที่สวยงามและมีราคาแพง
6. ฉลามกรีนแลนด์ (Greenland Shark) : 270 ปีขึ้นไป
ฉลามกรีนแลนด์อาศัยอยู่บริเวณน้ำลึกในมหาสมุทรอาร์กติกและมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ พวกมันสามารถมีขนาดลำตัวยาวมากกว่า 7 เมตร พวกมันกินสัตว์ทะเลหลายชนิดเป็นอาหาร รวมทั้งปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น แมวน้ำ จากการศึกษาเนื้อเยื่อตาของฉลามกรีนแลนด์เมื่อปี 2016 พบว่าพวกมันมีอายุขัยอย่างน้อย 272 ปีซึ่งทำให้พวกมันเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ในการศึกษาครั้งนี้ฉลามกรีนแลนด์ตัวใหญ่ที่สุดมีอายุประมาณ 392 ปี นักวิจัยระบุว่าฉลามกรีนแลนด์อาจมีอายุได้ถึง 512 ปี
5. หนอนท่อ (Tube Worm) : 300 ปีขึ้นไป
หนอนท่อเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนพื้นมหาสมุทร บางสายพันธุ์กินอาหารโดยการกรองตะกอนจากน้ำทะเล บางสายพันธุ์ดูดซับอาหารที่แบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ในท่อช่วยสร้างขึ้นจากแร่ธาตุในน้ำทะเล บางสายพันธุ์สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดขั้วบริเวณปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลลึก แต่สายพันธุ์ที่มีชีวิตยาวนานที่สุดพบได้ในสภาพแวดล้อมที่เย็นกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่า หนอนท่อที่อาศัยที่บริเวณหนาวเย็นในอ่าวเม็กซิโกมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 200 ปี บางตัวสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่า 300 ปี หนอนท่อมีการเผาผลาญช้าและมีภัยคุกคามทางธรรมชาติเพียงเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้พวกมันสามารถมีช่วงชีวิตที่ยาวนานเช่นนี้
4. หอยกาบสมุทร (Ocean Quahog) : 500 ปีขึ้นไป
หอยกาบสมุทรเป็นหอยสองฝาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ พบตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงเม็กซิโก นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดอายุของพวกมันได้ด้วยการนับวงแหวนการเจริญเติบโตบนเปลือกหอยคล้ายกับการหาอายุของต้นไม้ มีหอยกาบสมุทรจำนวนมากได้รับการบันทึกว่ามีอายุมากกว่า 400 ปี ตัวที่อายุมากที่สุดถูกพบที่ก้นทะเลไอซ์แลนด์มีอายุถึง 507 ปี มันถูกตั้งชื่อว่า Ming ตามชื่อราชวงศ์ซึ่งปกครองประเทศจีนในช่วงที่มันมีชีวิตอยู่
3. ปะการังสีดำ (Black Coral) : 4,000 ปีขึ้นไป
ปะการังมีลักษณะเหมือนหินและพืชใต้น้ำที่มีสีสันสดใส ถูกสร้างขึ้นจากโครงกระดูกภายนอกของตัวปะการังที่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เรียกว่าโพลิฟ (Polyps) ซึ่งอาศัยรวมกันอยู่เป็นโคโลนีและสร้างขยายตัวเองอย่างต่อเนื่องจนมีขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประการังสีดำเป็นปะการังน้ำลึกซึ่งจัดเป็นปะการังที่มีชีวิตยาวนานที่สุด ชื่อของพวกมันถูกตั้งตามสีของโครงกระดูกสีดำของพวกมันนั่นเอง ปะการังสีดำที่พบนอกชายฝั่งของฮาวายที่ระดับความลึก 300 – 3,000 เมตรได้รับการตรวจหาอายุโดยด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีพบว่ามีอายุถึง 4,265 ปี
2. ฟองน้ำแก้ว (Glass Sponge) : 10,000 ปีขึ้นไป
ฟองน้ำเป็นสัตว์ที่มีรูพรุนทั่วทั้งตัวประกอบด้วยโคโลนีคล้ายกับปะการัง ฟองน้ำแก้วเป็นสายพันธุ์ฟองน้ำที่มีโครงกระดูกที่มีลักษณะคล้ายแก้ว มีรูปร่างคล้ายแจกันหรือกรวย อาศัยอยู่ในทะเลลึกที่ระดับ 500 – 1,500 เมตร การงานวิจัยเมื่อปี 2012 ประเมินว่าฟองน้ำแก้วที่เป็นของสปีชีส์ monorhaphis chuni มีอายุประมาณ 11,000 ปี ฟองน้ำสายพันธุ์อื่นๆก็มีอายุขัยยืนนานเช่นกันและอาจมีอายุมากกว่านี้ก็ได้
1. แมงกะพรุนอมตะ (Immortal jellyfish) : อาจมีชีวิตอมตะ
แมงกะพรุนสายพันธุ์ Turritopsis dohrnii ถูกเรียกว่าแมงกะพรุนอมตะเพราะอาจมีชีวิตอยู่ตลอดไปไม่มีวันตาย แมงกะพรุนเริ่มต้นชีวิตเป็นตัวอ่อนก่อนที่จะสร้างตัวเองบนพื้นทะเลและเปลี่ยนเป็นโพลิฟ (Polyps) จากโพลิฟพวกมันจะกลายเป็นแมงกะพรุน (Jellyfish) แมงกะพรุนอมตะซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีความสามารถพิเศษสามารถเปลี่ยนกลับเป็นโพลิฟได้ หากพวกมันได้รับความเสียหายทางร่างกายหรืออดอาหาร พวกมันสามารถย้อนกลับเริ่มต้นวงจรชีวิตของพวกมันใหม่ได้หลายครั้ง ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมพวกมันจึงอาจไม่มีวันแก่ตาย ยังมีสัตว์ที่อาจมีชีวิตอมตะอีกชนิดหนึ่งคือไฮดรา (Hydras) ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells) ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกมันไม่เสื่อมสภาพเมื่อพวกมันมีอายุมากขึ้น
ข้อมูลและภาพจาก livescience, onekindplanet, animalsaroundtheglobe