เทคนิคของ CCSL แตกต่างออกไป พวกเขาใช้เกลือชนิดหนึ่งในการจับ CO2 ซึ่งปรากฏว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าสารเคมีอื่นที่ใช้กันในปัจจุบัน พวกเขาบอกว่ามันสามารถจับ CO2 ได้มากกว่า 90%
CCSL กล่าวว่าพวกเขาสามารถจับ CO2 จากโรงงานที่เมืองตูติโครินได้ปีละกว่า 60,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการเอารถยนต์ออกไปจากถนน 12,674 คัน หรือเทียบเท่ากับการเผาน้ำมันเบนซิน 6,751,435 แกลลอน หลังจากติดตั้งระบบนี้แล้วการปล่อยของเสียของโรงงานเกือบเป็นศูนย์
ต้นทุนในการจับ CO2 ของ CCSL อยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าระบบที่ใช้งานกันในปัจจุบันซึ่งมีต้นทุนที่ 60 – 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันค่อนข้างมาก โซดาแอชที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการนี้สามารถนำไปขายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการจับ CO2 ได้อีกด้วย
โซดาแอชเป็นสารเคมีพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง เช่น ใช้ในการผลิตแก้ว น้ำตาล ผงซักฟอก กระดาษ รวมถึงทำผงฟูด้วย
ขณะที่มีหลายบริษัทพยายามใช้วิธีจับ CO2 และนำไปเก็บไว้ (Carbon Capture and Storage – CCS) เช่น โครงการ Wallula Basalt Pilot Project ที่ประสบความสำเร็จกับการเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้กลายเป็นหินแข็ง แต่กระบวนการเหล่านั้นมีต้นทุนสูงและมองไม่เห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต
แต่วิธีการของ CCSL เป็นตัวอย่างแรกของการจับ CO2 และนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization – CCU) ขนาดใหญ่ ที่นอกจากต้นทุนถูกกว่ายังได้ผลผลิตที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย และ CCSL ได้ประมาณการณ์ว่าการจับ CO2 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 20% ซึ่งจะช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ภายในสี่ทศวรรษข้างหน้า
“พวกที่ปล่อยก๊าซ CO2 รายหลักๆ เช่น โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสหกรรม ในอนาคตอาจถูกบังคับให้ติดตั้งเทคโนโลยีการจับคาร์บอนหรือจ่ายภาษีคาร์บอน” ผู้บริหาร CCSL กล่าว “CCSL กำลังสร้างนวัตกรรมและทำงานร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำในการลดการปล่อย CO2 จากแหล่งใหญ่ๆ”
ข้อมูลและภาพจาก iflscience, ecowatch