ชาวอินเดียนแดงโบราณใช้อัตราส่วนทองในการสร้างวิหาร Sun Temple

หลังจากใช้เวลาศึกษานานหลายปี นักวิจัยก็ค้นพบว่าชาวอินเดียนแดงโบราณมีการใช้อัตราส่วนทองในการสร้างวิหาร Sun Temple ที่มีอายุราว 800 ปี ทั้งๆที่พวกเขาไม่มีระบบตัวเลข ไม่มีแม้กระทั่งภาษาเขียน

อัตราส่วนทอง (Golden Ratio) เป็นค่าคงที่ทางคณิตศาสตร์ที่แปลกพิสดารค่าหนึ่ง ใช้ตัวอักษรกรีก φ (phi) แทนค่านี้ ค่าของ φ เท่ากับ 1.618… (เป็นทศนิยมไม่รู้จบ) สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีอัตราส่วนของด้านยาวต่อด้านกว้างเท่ากับอัตราส่วนทองจะเรียกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอง (Golden Rectangle)

อัตราส่วนทองได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์และศิลปิน เนื่องจากมันถูกพบอยู่ในธรรมชาติ เช่น เกลียวของกาแล็กซี่ พายุเฮอริเคน หอยนอติลุส รวมไปถึงสัดส่วนของใบหน้าและร่างกายของมนุษย์

ชาวกรีกและโรมันโบราณนิยมใช้อัตราส่วนทองในการสร้างวิหารเพื่อให้ได้สัดส่วนที่สง่างาม เช่น วิหารพาร์เธนอนและมหาวิหารน็อตเทรอดาม ว่ากันว่าผู้หญิงที่สวยที่สุดจะต้องมีสัดส่วนสอดคล้องตรงกับอัตราส่วนทอง ภาพเขียน ‘โมนาลิซา’ ก็ใช้อัตราส่วนทองด้วยเช่นกัน

sun-temple-golden-ratio-2

sun-temple-golden-ratio-3

Sherry Towers นักฟิสิกส์และนักสถิติจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตได้สำรวจวิหาร Sun Temple ที่ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง เดิมเธอสนใจว่าวิหารที่สร้างอย่างประณีตนี้จะใช้สำหรับการสำรวจทางดาราศาสตร์ของผู้คนในสมัยนั้นหรือไม่ แต่เธอกลับพบว่าผังบริเวณของวิหารหลังนี้ประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตหลายอย่างที่ทำให้เธอต้องเจาะลึกลงไป

Towers พบว่ามีการใช้อัตราส่วนทอง สี่เหลี่ยมผืนผ้าทอง รวมไปถึงรูปทรงเรขาคณิตอื่นๆ เช่น สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมด้านเท่า สามเหลี่ยมมุมฉากที่มีด้านประกอบฉากเท่ากัน และสามเหลี่ยมปีธากอรัส นั่นหมายถึงว่า Sun Temple เป็นสถานที่แรกๆในอเมริกาเหนือที่รู้จักใช้รูปทรงเรขาคณิตหลายอย่างในงานก่อสร้าง

“แม้ว่าบรรพบุรุษของชาวอินเดียนแดงไม่มีภาษาเขียนหรือระบบตัวเลข แต่ความแม่นยำในการจัดวางผังบริเวณนั้นยอดเยี่ยมมาก” Towers กล่าว “มันไม่ชัดเจนว่าทำไมคนโบราณเหล่านี้จำเป็นต้องใช้รูปทรงเหล่านี้ในการสร้างวิหาร บางทีความรู้ความชำนาญในวิธีการสร้างรูปทรงเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนี่งของความเชื่อทางไสยศาสตร์ของพวกเขา”

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะใช้เพียงแค่เทคโนโลยีและอุปกรณ์อย่างง่ายๆ เช่น เข็มทิศ เชือก และไม้วัด แต่การวัดระยะของรูปทรงต่างๆในวิหารมีความแม่นยำค่อนข้างสูง มีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1% และดูเหมือนว่ามีการใช้หน่วยวัดอย่างหนึ่งที่มีความยาวใกล้เคียงกับระยะหนึ่งฟุตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจเป็นพิเศษ” Towers กล่าว “ความเก่งกาจของสถาปนิกที่สร้างวิหารนี้ไม่อาจจะประเมินค่าต่ำได้เลย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างวิหารให้ได้ความละเอียดแม่นยำขนาดนี้โดยใช้เพียงไม้วัดกับเชือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่สามารถจะเขียนอะไรบอกกันได้เลยในขณะที่กำลังทำงานกันอยู่”

Towers ยังต้องการสำรวจว่ามีการใช้หน่วยวัดและรูปทรงแบบนี้ที่วิหารโบราณอื่น เช่นที่ Pueblo Bonito ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติที่รัฐนิวเม็กซิโก

“ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไปว่าที่ Pueblo Bonito จะมีการใช้หน่วยวัดแบบเดียวกันหรือไม่” Towers กล่าว “มันเป็นงานที่คงจะทำให้เราต้องยุ่งไปอีกหลายปีทีเดียว”

sun-temple-golden-ratio-4

 

ข้อมูลและภาพจาก livescience, eurekalert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *