ถ้าพิจารณาในแง่อัตราการเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในปี 2016 ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ติดตั้งไปถึง 34.2 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2015 ถึง 125% ขณะที่สหรัฐอเมริกาตามมาห่างๆ ติดตั้งไป 14 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน 92% ญี่ปุ่นและอินเดีย ตามมาเป็นอันดับสามและสี่ ติดตั้งไป 8.6 กิกะวัต์และ 4.5 กิกะวัตต์ตามลำดับ
ขณะที่หลายภูมิภาคมีการเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างก้าวกระโดด แต่ในสหภาพยุโรปกลับลดลง โดยในปี 2016 มีการติดตั้ง 6.9 กิกะวัตต์ เทียบกับปี 2015 ที่มีการติดตั้ง 8.6 กิกะวัตต์ การเติบโตลดลงราว 20% อันเป็นผลเนื่องมาจากหลายประเทศในสหภาพยุโรปได้ตัดการให้สิ่งจูงใจในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือน และยกเลิกการให้เงินอุดหนุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่อย่างทันทีทันใด
เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (รูปด้านล่าง) จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการใช้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศจีนที่บูมสุดขีดในช่วง 5 ปีหลัง จนแซงหน้าทุกประเทศขึ้นเป็นผู้ใช้สูงสุด การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้โลกทำตามข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ
“เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายในข้อตกลงปารีส มันสำคัญมากที่จะต้องให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างรวดเร็วแบบต่อเนื่อง ทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ และยังสามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้อีก” James Watson ซีอีโอของ SolarPower Europe กล่าว
“ปี 2016 จะถูกจดจำว่าเป็นปีแรกที่มีการเซ็นสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีราคาถูกที่สุดในหลายพื้นที่ของโลก” Watson กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับสหภาพยุโรปแม้ว่ากำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์จะผ่านหลัก 100 กิกะวัตต์ไปตั้งแต่ต้นปี 2016 และขณะนี้อยู่ที่ 104 กิกะวัตต์แล้วก็ตาม แต่อัตราการเติบโตที่ช้าลงก็ได้ส่งสัญญาณเตือนว่าสหภาพยุโรปจะต้องกำหนดเป้าหมายของพลังงานหมุนเวียนที่ทะเยอทะยานมากกว่าเดิม
“เราต้องเริ่มจากการเพิ่มเป้าหมายของพลังงานหมุนเวียนให้ถึงอย่างน้อย 35% (จากเดิม 27%) ในปี 2030 ซึ่งจะส่งสัญญาณว่าสหภาพยุโรปกำลังกลับมาสู่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว” Alexandre Roesch ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ SolarPower Europe กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก theguardian, cleantechnica