สิ่งมีชีวิตนอกโลกอาจจะถูกทำลายโดยภาวะเรือนกระจก

การศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า ภาวะเรือนกระจก สามารถทำลายโอกาสของการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ได้ นักวิทยาศาสตร์ถือว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่จะเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ นักวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นไปที่ “โซนอยู่อาศัย (habitable zone)” รอบดาวอื่น ๆ ภายในโซนอยู่อาศัยดาวเคราะห์คล้ายโลกจะไม่ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปสำหรับน้ำที่จะอยู่บนพื้นผิวในสภาพของเหลวได้

ดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ของมันมากเกินไปอาจจะแห้งผากเพราะความร้อนจากแสงอาทิตย์ แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบรุนแรงสามารถทำให้ดาวเคราะห์เข้าสู่สภาวะที่แห้งผากได้เช่นกัน คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนดาวศุกร์

งานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนเนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีประสิทธิภาพเหมือนกับความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่แผดเผาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบมัน การศึกษาโดยการสร้างแบบจำลองได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาในวารสาร Nature Communications

“เรื่องนี้น่าสนใจเพราะมันจะบอกว่าคุณจำเป็นต้องรู้มากกว่าเดิม ไม่เพียงแค่ตำแหน่งของดาวเคราะห์เพื่อที่จะรู้ว่ามันจะอยู่อาศัยได้หรือไม่” นักวิจัย แม็กซ์ ปอปป์ กล่าว

ในกรณีของดาวศุกร์ที่ร้อนอย่างมากนั้น น้ำที่ระเหยจากพื้นผิวของดาวเคราะห์ลอยตัวสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์และในที่สุดมันก็หลุดเข้าไปในอวกาศ แบบนี้เรียกว่า “เรือนกระจกชื้น” ทุกวันนี้บรรยากาศของดาวศุกร์เกือบทั้งหมดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (โลกสามารถเก็บรักษาน้ำไว้ได้เพราะบรรยากาศชั้นบนของโลกค่อนข้างแห้ง)

เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกอย่างรุนแรง ปอปป์และเพื่อนร่วมงานของเขาสร้างแบบจำลอง 3 มิติของดาวเคราะห์คล้ายโลกที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำ โลกน้ำจำลองนี้นักวิทยาศาสตร์อาจไม่สนใจผลกระทบที่ซับซ้อนของผืนแผ่นดินและฤดูกาล

นักวิจัยค้นพบว่าเมื่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นถึง 1,520 ppm (ส่วนต่อล้านส่วน) สภาพอากาศของโลกจะไม่เสถียร อุณหภูมิที่พื้นผิวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 135 องศาฟาเรนไฮต์ (57 องศาเซลเซียส) สร้างความร้อนและสภาวะเรือนกระจกชื้น ในที่สุดดาวเคราะห์ก็จะเปลี่ยนเป็นมีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนมากและมันจะเกิดขึ้นค่อนข้างฉับพลัน

นักวิจัยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเมฆขนาดใหญ่ทำให้เกิดความร้อนและภาวะเรือนกระจกชื้น ตำแหน่งและความหนาของเมฆ สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ถูกกักเก็บไว้บนดาวเคราะห์ได้

แม้ว่าผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าก๊าซเรือนกระจกสามารถเป็นอันตรายต่อดาวเคราะห์เหมือนกับที่ดาวเคราะห์โคจรรอบใกล้กับดวงอาทิตย์มากเกินไป แต่กระบวนการนี​​้จะเกิดขึ้นในระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าที่มีอยู่บนโลกในทุกวันนี้อย่างมาก

นักวิจัยกล่าวว่าก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่กิจกรรมของมนุษย์จะทำให้เกิดภาวะที่คล้ายกับภาวะเรือนกระจกชื้นบนโลกได้ ถ้าจะทำให้ได้มนุษย์จะต้องไปเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอย่างมาก ขนาดต้องเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีสำรองอยู่ในโลกทั้งหมดทีเดียว

“นี่เป็นการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อให้เปรียบเทียบระหว่างแสงอาทิตย์และคาร์บอนไดออกไซด์ สถานการณ์ที่คล้ายกันจะไม่เกิดขึ้นบนโลกในเร็ว ๆ นี้แน่” นักวิจัยกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *