“ข้อจำกัดสำคัญในงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อก็คือยังไม่มีระบบเครือข่ายท่อลำเลียง” Joshua Gershlak หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “การไม่มีระบบท่อลำเลียงจะทำให้เนื้อเยื่อตาย”
หนึ่งในลักษณะพิเศษของใบไม้คือระบบเครือข่ายสาขาของเส้นใบที่ใช้เป็นท่อลำเลียงน้ำและสารอาหารไปยังเซลล์ของมัน นักวิจัยได้ใช้ระบบท่อลำเลียงของพืชเป็นเส้นทางในการให้เลือดไหลผ่านไปตามเนื้อเยื่อของมนุษย์ โดยการดัดแปลงใบของผักขมในห้องแล็บ เอาเซลล์ของใบผักขมออกไปให้เหลือแต่โครงที่ทำจากเซลลูโลส
จากนั้นทีมวิจัยก็นำเอาโครงใบที่ได้ไปจุ่มในเซลล์มนุษย์ที่ยังมีชีวิต ดังนั้นเนื้อเยื่อมนุษย์จึงเติบโตบนโครงใบผักขมที่มีระบบท่อลำเลียงเล็กๆอยู่โดยรอบ เมื่อนักวิจัยเปลี่ยนใบผักขมให้เป็นเนื้อเยื่อหัวใจ พวกเขาได้ส่งของเหลวและไมโครบีดส์ผ่านเข้าไปทางท่อลำเลียง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเซลล์เม็ดเลือดสามารถไหลผ่านทางระบบท่อลำเลียงนี้ได้
เป้าหมายสุดท้ายก็คือการที่สามารถนำไปแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายหรือผู้ที่เจ็บป่วยจากเนื้อเยื่อหัวใจเพื่อป้องกันหัวใจหยุดทำงาน ระบบท่อลำเลียงที่ดัดแปลงจากใบไม้จะทำหน้าที่ส่งออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อที่นำไปทดแทนเนื้อเยื่อชำรุด ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการรักษา
ทีมวิจัยกล่าวว่าสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับส่วนอื่นๆของพืชมาใช้ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่แตกต่างหลากหลายในร่างกายของเรา เช่น วันหนึ่งในอนาคตอาจใช้การดัดแปลงเซลล์ของลำต้นมาช่วยในการซ่อมกระดูกมนุษย์
“เรายังมีงานต้องทำอีกมาก แต่มันเต็มไปด้วยความหวัง” Glenn Gaudette นักวิจัยอีกคนกล่าว “การดัดแปลงพืชที่เพาะปลูกกันมานานหลายพันปีสามารถช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่เป็นข้อจำกัดในงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อได้”
ข้อมูลและภาพจาก nationalgeographic, independent