ยางรถยนต์สูตรใหม่ทำจากเปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศ ดีกว่าเดิมแถมลดขยะ

นักวิจัยคิดค้นสูตรใหม่ที่น่าทึ่งในการผลิตยางรถยนต์ ด้วยการผสมเปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศกับยางธรรมชาติ ให้คุณสมบัติดีกว่าเดิม แถมช่วยลดขยะและลดมลพิษอีกด้วย

ปกติยางรถยนต์จะส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) ราว 30% เป็นตัวเสริมให้ยางธรรมชาติมีความทนทานและยืดหยุ่นได้ดี เขม่าดำเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ส่วนใหญ่ได้จากการเผาน้ำมันดิบ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม

Katrina Cornish นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตได้คิดค้นส่วนผสมที่ใช้ผลิตยางรถยนต์ขึ้นมาใหม่โดยการใช้เปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศเป็นตัวเสริมแทนเขม่าดำ เปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศถูกทำให้แห้งแล้วบดเป็นผง นำไปผสมกับยางธรรมชาติ ปรากฏว่าได้ยางที่แข็งแรงทนทานและยังคงความยืดหยุ่นได้ดีกว่าเดิม

Cornish เคยเห็นมะเขือเทศกองซ้อนกันเต็มรถบรรทุกแล้วก็แปลกใจว่าทำไมมะเขือเทศลูกที่อยู่ด้านล่างจึงไม่แตก เธอมารู้ทีหลังว่ามีการปรับปรุงพันธุ์สำหรับมะเขือเทศที่ใช้ในอุตสหกรรมให้เปลือกมีความแข็งแรงจนทานน้ำหนักที่กดทับได้ และนั่นมีส่วนจุดประกายความคิดในเรื่องส่วนผสมยางรถยนต์ใหม่ด้วย

คุณสมบัติที่ดีของส่วนผสมใหม่มาจากอนุภาคของเปลือกไข่ที่มีรูพรุนมีพื้นที่ผิวสูงมากทำให้เพิ่มการสัมผัสกับน้ำยาง ขณะที่อนุภาคของเปลือกมะเขือเทศคงรูปได้ดีในอุณหภูมิสูงและยังมีเส้นใยที่ทนทานอีกด้วย

ชาวอเมริกันกินมะเขือเทศปีละ 13 ล้านตัน เปลือกมะเขือเทศเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศกองสูงเป็นภูเขา ขณะที่ชาวอเมริกันกินไข่ปีหนึ่งเป็นแสนล้านฟอง และครึ่งหนึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งหมายถึงว่าจะมีแหล่งจัดหาเปลือกไข่ที่มั่นคง

food-into-tires-2

“อุตสาหกรรมยางรถยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว เราไม่เพียงแต่ต้องการยางธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น เราต้องการตัวเสริมเพิ่มขึ้นด้วย ทั่วโลกผลิตยางรถยนต์เพิ่มตลอดเวลาและจะใช้เขม่าดำที่ผลิตได้จนหมดไม่มีเหลือ” Cornish กล่าว

ความสำเร็จในการคิดค้นส่วนผสมใหม่นี้นอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์มั่นคงยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดการใช้และเผาน้ำมันดิบ และลดขยะจากเศษอาหารที่ต้องนำไปฝังกลบได้อีกด้วย

นอกจากนี้ส่วนผสมใหม่ที่ให้ผลิตภัณฑ์เป็นสีน้ำตาลแดงยังมีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก

“เราพบว่าเราสามารถพัฒนาต่อยอดการประยุกต์ใช้ได้อีกหลายอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้ยางธรรมชาติ” Cornish กล่าว

 

ข้อมูลและภาพจาก  osu, treehugger

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *