บริษัทในสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนเหมืองถ่านหินเก่าเป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่

บริษัทถ่านหินในรัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแผนการสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่บนพื้นที่เหมืองถ่านหินบนยอดเขาที่เลิกใช้งานแล้ว โครงการนี้จะนำมาซึ่งการจ้างงานและเป็นแหล่งพลังงานให้กับบริเวณพื้นที่โดยรอบ

Berkeley Energy Group (BEG) คือบริษัทถ่านหินที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ซึ่งจะเป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคแอปพาเลเชียทางตะวันออกของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการตกต่ำของธุรกิจถ่านหินในสหรัฐฯมานานนับทศวรรษ

บริษัท BEG ร่วมกับบริษัท EDF Renewable Energy กำลังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการบนพื้นที่เหมืองเก่าสองแห่ง BEG ประเมินว่าโซลาร์ฟาร์มใหม่ควรจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 50 – 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นขนาดเป็น 5 – 10 เท่าของโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในรัฐเคนทักกี

Ryan Johns ผู้จัดการโครงการของ BEG บอกว่าบริษัทไม่ได้ตั้งใจที่จะทดแทนการผลิตถ่านหินด้วยโซลาร์ฟาร์ม แต่มองว่าโครงการมีโอกาสใช้ที่ดินที่ปรับพื้นที่ไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มการจ้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้ด้วย

“ผมโตมากับถ่านหิน” Johns กล่าว “บริษัทของเราอยู่ในธุรกิจถ่านหินมา 30 ปี เราไม่ได้มองว่านี่เป็นการพยายามทดแทนถ่านหิน เรานำถ่านหินออกไปจากพื้นที่นี้เรียบร้อยแล้ว”

ถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯมานานหลายทศวรรษต้องเผชิญกับการแข่งขันจากแหล่งพลังงานที่ถูกกว่า เช่น ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม การเพิ่มความเข้มงวดในข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและการนำเครื่องจักรทำงานแทนคนมากขึ้นได้ผลักดันให้ธุรกิจถ่านหินไปสู่ความตกต่ำ ปริมาณถ่านหินที่ผลิตจากเคนทักกีตะวันออกลดลงจาก 23 ล้านตันในปี 2008 เหลือ 5 ล้านตันในปี 2016 และในช่วงเวลาเดียวกันการจ้างงานก็ลดลงจาก 14,373 คนเหลือ 3,833 คน

ขณะเดียวกันการจ้างงานในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนกลับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จากรายงานเมื่อต้นปีนี้พบว่ากลุ่มพลังงานสะอาดจ้างคนมากกว่ากลุ่มพลังงานฟอสซิล 2.5 เท่า งานในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนมากกว่างานในกลุ่มพลังงานฟอสซิลเกือบทุกรัฐ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการจ้างงานด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีอัตราการเติบโตมากกว่างานอื่นๆในสหรัฐฯถึง 12 เท่า

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงทิศทางและการเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงาน จากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน ผู้ที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและเลือกแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบพลังงานของประเทศในอนาคต

 

ข้อมูลและภาพจาก   thinkprogress.org, powersource

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *