ในทางกลับกันการใช้ถ่านหินลดลงถึงจุดต่ำที่สุด โดยในวันดังกล่าวโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพียงไม่ถึง 8 กิกะวัตต์ จากกำลังผลิตสูงสุดที่ 50 กิกะวัตต์ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ลดต่ำลงอย่างมากด้วย
“โรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่หยุดเดินเครื่องในวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน” Patrick Graichen จาก Agora Energiewende องค์กรด้านการปฏิวัติพลังงานกล่าว “การผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีแผนจะเลิกใช้ทั้งหมดภายในปี 2022 ก็ลดลงไปอย่างมากด้วย”
Graichen ยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่าเหตุการณ์แบบวันที่ 30 เมษายนจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาภายในปี 2030 เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องโดยตลอดมาตั้งแต่ปี 2010
นับจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ เยอรมันได้ประกาศในเดือนพฤษภาคม 2011 ถึงแผนลดการใช้นิวเคลียร์และจะเลิกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2022 เมื่อวันที่ 30 เมษายนก็ลดการผลิตจาก 7.9 กิกะวัตต์เหลือเพียง 5 กิกะวัตต์
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ การประมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมนอกชายฝั่งของเยอรมันได้ทำให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์สะดุ้งตกใจกัน เมื่อผลออกมาได้ราคาที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ทั้งที่ไม่มีเรื่องเงินอุดหนุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย ทำให้ข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าพลังงานหมุนเวียนจะไปไม่รอดถ้าปราศจากการช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นอันตกไป
ผลที่ออกมาปรากฏชัดแล้วว่าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ โดยที่ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านลบของพลังงานฟอสซิลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
สถิติใหม่ทางด้านพลังงานหมุนเวียนในเยอรมันคงจะมีอีกต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 พลังงานหมุนเวียนได้เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าในเยอรมันอย่างมั่นคง เดือนมีนาคมที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 40% ได้จากพลังงานหมุนเวียน
เยอรมันมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้ถึง 80% ภายในปี 2050 โดยกำหนดเป้าหมายที่ 35 – 40% ภายในปี 2025 และ 55 – 60% ภายในปี 2035
ข้อมูลและภาพจาก ecowatch, cleantechnica