ประดิษฐ์เซมิคอนดักเตอร์ย่อยสลายได้ หวังให้ขยะอิเล็คทรอนิกส์กลายเป็นอดีต

สหประชาชาติรายงานว่าแต่ละปีมีขยะอิเล็คทรอนิกส์มากถึง 50 ล้านตัน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่จะต้องหาทางแก้ไข ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดจึงได้คิดค้นพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นส่วนประกอบหลักในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ให้สามารถย่อยสลายได้ด้วยกรดอ่อนๆอย่างเช่นน้ำส้มสายชู

ทีมวิจัยที่นำโดย Zhenan Bao วิศวกรเคมีที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้เริ่มต้นการคิดค้นเซมิคอนดักเตอร์ชนิดใหม่โดยได้แรงบันดาลใจจากผิวหนังมนุษย์ Bao บอกว่าผิวหนังของคนยืดออกได้ สามารถรักษาเยียวยาตัวเองได้ และย่อยสลายได้ พวกเขาต้องการลักษณะพิเศษเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับอิเล็คทรอนิกส์

พวกเขาได้สร้างแผ่นวงจรอิเล็คทรอนิกส์ที่ย่อยสลายได้และวัสดุฐานรองที่ย่อยสลายได้เพื่อใช้สำหรับติดส่วนประกอบและแผ่นวงจรอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆเข้าด้วยกัน เมื่อหมดอายุใช้งานส่วนประกอบทั้งหมดจะสามารถย่อยสลายเป็นสารที่ไม่มีพิษได้ไม่ยาก

นักวิจัยทำวัสดุฐานรองจากเซลลูโลสที่เป็นโพลีเมอร์ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติที่พบในเนื้อไม้ กระดาษ และผ้าฝ้าย ด้วยการปรับเปลี่ยนเส้นใยของเซลลูโลสทำให้ได้เป็นแผ่นบางเหมือนกระดาษ แต่ใสและยืดหยุ่น มีน้ำหนักเบากว่ากระดาษ 40 เท่า ใช้วางแปะไปบนผิวเรียบได้ หรือผิวขรุขระอย่างผลอะโวคาโดก็ได้

สำหรับวงจรอิเล็คทรอนิกส์ที่ปกติส่วนนี้จะทำจากทองคำเพราะว่ามันมั่นคงดี ทีมวิจัยเลือกทำจากเหล็กเนื่องจากมันไม่มีพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

biodegradable-semiconductor-stanford-2

เซมิคอนดักเตอร์ที่ย่อยสลายได้นี้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้กับอุปกรณ์สวมใส่สำหรับตรวจวัดสุขภาพของร่างกาย วัดระดับน้ำตาลในเลือด วัดความดันโลหิต หรือวัดสัญญาณชีพอื่นๆ หรือใช้ทำเซ็นเซอร์ตรวจวัดสำรวจสภาพพื้นที่ในป่าหรือพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ใช้เครื่องบินโปรยเซ็นเซอร์กระจายในพื้นที่แล้วรับข้อมูลมาใช้งานโดยไม่ต้องไปเก็บคืนกลับมา มันจะย่อยสลายไปเองไม่เป็นปัญหากับสภาพแวดล้อม

จากการทดลองนักวิจัยพบว่าเมื่อนำแผ่นวงจรที่ทำจากเหล็กไปวางในสารละลายที่มี pH 4.6 ซึ่งมีความเป็นกรดอ่อนกว่าน้ำส้มสายชูที่มี pH 2 ถึง 3 แผ่นวงจรจะย่อยสลายอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 ชั่วโมง ส่วนวัสดุฐานรองจะย่อยสลายภายใน 30 วัน

“ปัจจุบันเรากำลังผลิตโทรศัพท์มือถือเป็นพันล้านเครื่องซึ่งย่อยสลายได้ยากมาก” Ting Lei หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “เราหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัสดุที่ย่อยสลายได้เพื่อที่จะมีขยะอิเล็คทรอนิกส์น้อยลง”

 

ข้อมูลและภาพจาก stanford.edu, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *