Lavers พบว่าเกาะ Henderson เป็นสถานที่ที่มีขยะที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์มากกว่าที่อื่นใดในโลก และ 99.8% เป็นขยะพลาสติก ทีมวิจัยสุ่มตัวอย่างตรวจพบว่ามีขยะพลาสติกหนาแน่นมากราว 671 ชิ้นต่อตารางเมตร ขยะพลาสติกบนเกาะทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 38 ล้านชิ้น มีน้ำหนักรวม 17.6 ตัน ขยะพลาสติกถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนชายฝั่งอย่างต่อเนื่องวันละ 13,000 ชิ้น
ขยะพลาสติกทั้งหมดมาจากที่ห่างไกล นักวิจัยได้ตรวจดูขยะมากกว่า 53,000 ชิ้น พบว่ามันมาจากประเทศต่างๆที่อยู่คนละมุมโลกรวม 24 ประเทศ มีทั้งเยอรมัน แคนาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเกาะ Henderson ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของกระแสมหาสมุทรที่เรียกว่า South Pacific Gyre กระแสน้ำหมุนวนจะพัดพาขยะลอยน้ำจากทวีปอเมริกาใต้รวมทั้งขยะพลาสติกที่เรือประมงทิ้งลงทะเลมายังเกาะ Henderson
น่าสนใจอย่างยิ่งที่ขยะส่วนใหญ่บนเกาะกลับมองไม่เห็น ขยะ 68% ฝังอยู่ใต้พื้นทราย นักวิจัยขุดทรายลึก 10 ซม. และนับเฉพาะขยะที่ใหญ่กว่า 2 มม. พวกเขาบอกว่าการประมาณปริมาณขยะบนเกาะ Henderson อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขาไม่ได้นับขยะเล็กจิ๋วรวมถึงพวกที่อยู่ลึกกว่า ที่ขุด และนอกจากนี้พวกเขาไม่สามารถสุ่มตัวอย่างจากบริเวณหน้าผาและตามแนวโขดหินอีกด้วย
ขยะพลาสติกมีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด งานวิจัยครั้งนี้ได้พบปูเสฉวนหลายร้อยตัวใช้ขวดเครื่องสำอางและฝาขวดซึ่งมีลักษณะทั้งเป็นแฉก แหลมคม เปราะ และมีพิษ มาทำเป็นบ้านแทนเปลือกหอย และยังเห็นมีปูเสฉวนตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในหัวตุ๊กตา
นักวิจัยพบว่าเต่าทะเลที่คลุกคลีอยู่กับขยะพลาสติกบนหาดทรายจะลดจำนวนการวางไข่ลง และยิ่งน่าเป็นห่วงเนื่องจากเกาะ Henderson เป็นที่วางไข่เพียงแห่งเดียวของเต่าทะเลในหมู่เกาะ Pitcairn อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตามแนวชายฝั่งอีกด้วย
“สิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะ Henderson แสดงให้เห็นว่าไม่มีทางหลีกหนีจากขยะพลาสติกพ้น แม้แต่ในดินแดนที่ไกลที่สุดของมหาสมุทร” Lavers กล่าว “มันห่างไกลจากเกาะในฝันตามจินตนาการของผู้คนอย่างมาก เกาะ Henderson กำลังทำให้เราตกตะลึง แต่มันเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกได้อย่างไร”
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, theguardian