มีเทนไฮเดรตหรือที่เรียกกันว่า ‘น้ำแข็งไฟ’ (flammable ice) เป็นของแข็งสีขาวลักษณะคล้ายกับน้ำแข็งแห้ง ติดไฟได้ โครงสร้างภายในเป็นก๊าซมีเทนหนึ่งโมเลกุลถูกกักล้อมรอบด้วยโครงผลึกของน้ำแข็งหลายโมเลกุลเกาะเกี่ยวกันเป็นโครงข่าย มีเทนไฮเดรตจะสะสมอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำและมีความกดดันปานกลาง
มีการค้นพบมีเทนไฮเดรตครั้งแรกนอกระบบสุริยะ ต่อมาพบว่ามีเทนไฮเดรตสะสมเป็นตะกอนอยู่ใต้พื้นมหาสมุทรหลายแห่งทั่วโลก มีการประมาณว่ามีเทนไฮเดรตมีปริมาณสำรองจำนวนมหาศาลมากกว่า 1.5 พันล้านล้านลบ.ม. แต่ยังมีปัญหาในเรื่องวิธีสกัดแยกเอาก๊าชมีเทนออกมาทั้งในด้านเทคนิคและต้นทุนที่สูงมาก
ชั้นตะกอนของมีเทนไฮเดรตค่อนข้างอ่อนไหวแตกสลายได้ง่าย หากอุณหภูมิหรือความดันเปลี่ยนไปอาจทำให้ก๊าซมีเทนที่กักเก็บอยู่ภายในถูกปล่อยออกมาหมด นี่เป็นปัญหาหนึ่งในการแยกก๊าซออกมา อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่มีเทนไฮเดรตไม่ค่อยเสถียรมักมีการจับก้อนขยายตัวไปอุดตันท่อก๊าซ
ตะกอนมีเทนไฮเดรตอัดตัวกันแน่นมาก ใน 1 ลูกบาศเมตรของมีเทนไฮเดรตสามารถปล่อยก๊าซธรรมชาติออกมาได้ถึง 164 ลบ.ม. ซึ่งถ้านำขึ้นมาใช้งานได้ก็จะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าสูง
นักวิจัยคิดว่าอาจจะมีแหล่งมีเทนไฮเดรตอย่างอุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งโลก บางทีอาจมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆรวมกันเสียอีก แต่มีเพียงบางแหล่งเท่านั้นที่จะสามารถนำมาใช้งานได้
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกสกัดแยกก๊าซธรรมชาติจากมีเทนไฮเดรตใต้ทะเลเมื่อปี 2013 แต่ในการทดสอบก็เกิดปัญหาขึ้นแทบจะทันที จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนนี้เองที่ญี่ปุ่นสามารถประกาศความสำเร็จได้ในอีกแห่งหนึ่ง
ตอนนี้จีนได้ประกาศว่าผลการสกัดแยกก๊าซที่แท่นลอยน้ำในทะเลจีนใต้ให้ผลที่ดีมาก และไม่ใช่แค่เพียงการทดลองเท่านั้น แต่ใช้สำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ได้เลย
วิศวกรและทีมงานขุดเจาะลงไปถึงพื้นท้องของทะเลและลดความดันของมีเทนไฮเดรตที่นั่น แล้วนำก๊าซมีเทนขึ้นมา พวกเขาสามารถนำก๊าซขึ้นมาได้ถึงวันละ 35,000 ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าที่ญี่ปุ่นทำได้หลายเท่า
มีหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ที่ได้ลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ในการสำรวจค้นหาแหล่งมีเทนไฮเดรต แต่ทั้งหมดก็ยังพัฒนาวิธีการสกัดแยกก๊าซได้อย่างเชื่องช้าทั้งเรื่องประสิทธิภาพและต้นทุน
ความสำเร็จล่าสุดของจีนสร้างความหวังในการใช้งานเชิงพาณิชย์ของแหล่งพลังงานชนิดนี้ แต่ก็ยังมีคำถามว่ามันยังมีคุณค่าอยู่อีกหรือเปล่า ในเมื่อก๊าซธรรมชาติก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังพยายามหันหลังให้อยู่
การขุดเจาะไปถึงพื้นท้องทะเลเพื่อสกัดแยกก๊าซที่ชั้นของน้ำแข็งไฟนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้โดยปราศจากความเสี่ยง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังจำเป็นต้องตรวจสอบค้นหากันต่อไป แต่มันมีโอกาสสูงทีเดียวที่ก๊าซมีเทนจะหลุดรอดไปสู่บรรยากาศได้ถ้าหากมีอะไรผิดพลาด
มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีพลังอำนาจสูงมาก มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 36 เท่า มันเสี่ยงเกินไปหรือเปล่าที่จะไปแหย่ก๊าซมีเทนที่ถูกกักเก็บไว้อย่างดีในชั้นน้ำแข็งให้ออกมาสู่บรรยากาศหรือแม้แต่ออกมาอยู่ในทะเล
รวมถึงการไปทำให้ตะกอนของมีเทนไฮเดรตมีสภาพรกรุงรังก็อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้นได้ นักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้ามองเรื่องนี้อยู่ด้วย
ทั้งๆที่มีความเสี่ยงสูงแต่ Ingo Pecher นักธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ กลับบอกว่าเขาคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ดีที่จะพัฒนามีเทนไฮเดรตให้เป็นแหล่งเชื้อเพลิง เพราะในการเผาไหม้ก๊าซมีเทนจะปล่อยมลพิษออกมาน้อยกว่า
“เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังทำในขณะนี้ ไม่ใช่ในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า เราจำเป็นต้องสนับสนุนให้เปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินไปใช้ก๊าซธรรมชาติ” Pecher กล่าว “ก๊าซธรรมชาติจากมีเทนไฮเดรตอาจมีบทบาทสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ในหลายพื้นที่ของโลก”
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, huffingtonpost