Elon Musk กระตุ้นผู้ที่สนใจให้ช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ด้วยการจัดการแข่งขัน SpaceX Hyperloop Pod Competition มีผู้เข้าร่วมหลายร้อยทีมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก Musk บอกว่าการแข่งขันนอกจากจะช่วยเร่งการสร้างนวัตกรรมใหม่แล้วยังช่วย “ค้นหาขอบเขตของฟิสิกส์” อีกด้วย และผู้ชนะการแข่งขันที่ได้ประกาศในเดือนมกราคมปีนี้คือทีมจากมหาวิทยาลัยเดลฟ์นั่นเอง
หลังจากกลับมาจากการรับรางวัลแล้วทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเดลฟ์ได้จัดตั้งบริษัท Hardt Global Mobility เพื่อสร้างระบบ Hyperloop ในฝันของพวกเขาให้เป็นจริง โดยมี Tim Houter กัปตันทีมที่เข้าแข่งขันทำหน้าที่เป็นซีอีโอของบริษัท
บริษัท Hardt ร่วมกับบริษัทก่อสร้าง BAM, การรถไฟแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเดลฟ์ สร้างอุโมงค์ทดสอบระบบขึ้นที่ The Green Village ภายในมหาวิทยาลัยเดลฟ์ ซึ่งจะเป็นห้องทดลองสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่แห่งอนาคต
อุโมงค์ทดสอบประกอบด้วยท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.2 เมตร ความยาว 30 เมตร มันจะเป็นสถานที่ให้ทีมงานทดสอบและพัฒนาระบบที่ไม่ต้องใช้ความเร็วสูงได้แก่ระบบความปลอดภัย, การขับเคลื่อน, การร่อน และความมีเสถียรภาพของยานพาหนะที่พวกเขาออกแบบมา
ห้องทดลองแห่งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นในแผนการสร้างระบบ Hyperloop เส้นทางแรกของบริษัท เมื่อทำการทดสอบที่ความเร็วต่ำแล้วพวกเขาก็จะสร้างอุโมงค์สำหรับการทดสอบที่ความเร็วสูงเป็นลำดับต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2019 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างระบบ Hyperloop ระหว่างอัมสเตอร์ดัมกับปารีสภายในปี 2021
นอกจากโครงการที่ยุโรปนี้แล้ว Hyperloop ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้แก่โครงการที่แคนาดา, ลอสแอนเจลิส และที่ดูไบ คงอีกไม่นานเกินรอเราก็จะได้เห็นเทคโนโลยีที่เคยมีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์นี้ถูกพัฒนาให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจัง
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, hardtglobalmobility