ฟอสซิลเก่าแก่บ่งชี้ว่ามนุษย์กำเนิดขึ้นบนโลกก่อนช่วงเวลาที่เคยคิดกันไว้เป็นแสนปี

การค้นพบฟอสซิลและเครื่องมือหินที่แหล่งโบราณคดี Jebel Irhoud ประเทศโมร็อกโก ทำให้จุดกำเนิดของมนุษย์ย้อนหลังกลับไปจากช่วงเวลาที่เคยคิดกันไว้ไม่น้อยกว่า 100,000 ปี และแสดงให้เห็นว่าเมื่อ 300,000 ปีก่อนมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา ทั้งด้านชีววิทยาและพฤติกรรมเกิดขึ้นทั่วทวีปแอฟริกา

ทีมวิจัยที่นำโดย Jean-Jacques Hublin จากสถาบัน Max Planck และ Abdelouahed Ben-Ncer จากสถาบันโบราณคดีแห่งชาติโมร็อกโก ได้เปิดเผยการพบฟอสซิลกระดูกมนุษย์ (Homo sapiens) กับเครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ และร่องรอยการใช้ไฟในถ้ำที่แหล่งโบราณคดี Jebel Irhoud ห่างจากเมือง Marrakesh ไปทางตะวันตก 100 กม. จากการตรวจสอบพบว่าเป็นฟอสซิลมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง 300,000 ปี

ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 200,000 ปีก่อนที่ทวีปแอฟริกา มีการค้นพบฟอสซิลมนุษย์ที่มีอายุราว 150,000 – 200,000 ปีที่เอธิโอเปียซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา การค้นพบในครั้งนี้จึงทำให้ช่วงเวลาที่มนุษย์ก่อกำเนิดมีขึ้นก่อนหน้าที่เคยคิดกันไว้ราว 100,000 ปี

แหล่งโบราณคดี Jebel Irhoud ในประเทศโมร็อกโกที่อยู่ด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกาถูกค้นพบตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นแหล่งสำคัญของฟอสซิลมนุษย์และสัตว์ที่ยังไม่ถูกรบกวน รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินกลางซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการใช้เครื่องมือหินหยาบๆแบบของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal man) ไปเป็นเครื่องมือหินที่ได้รับการตัดแต่งอย่างประณีตมากขึ้น

oldest-homo-sapiens-fossil-2

โครงการขุดค้นครั้งใหม่ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ค้นพบฟอสซิลมนุษย์เพิ่มขึ้น และได้พบกับฟอสซิลที่เก่าแก่มากที่สุด เป็นส่วนกะโหลก ฟัน และกระดูกของมนุษย์ 5 คนเป็นผู้ใหญ่ 3 คน วัยรุ่น 1 คน เด็ก 1 คน และเครื่องมือหินจำนวนหนึ่ง

“เครื่องมือหินจาก Jebel Irhoud ดูคล้ายกับเครื่องมือหินที่พบด้านตะวันออกและด้านใต้ของทวีปแอฟริกา” Shannon McPherron นักโบราณคดีจากสถาบัน Max Planck กล่าว “มันเป็นไปได้ที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของยุคหินกลางอาจมีความสัมพันธ์กับการอุบัติขึ้นของมนุษย์”

เครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่สนใจอย่างมากของนักโบราณคดีสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับสังคมและเทคโนโลยีของมนุษย์ยุคเริ่มแรก แต่พวกมันยังสามารถให้ข้อมูลด้านอายุอีกด้วย

oldest-homo-sapiens-fossil-3

เครื่องมือหินเหล่านี้มีอยู่จำนวนมากที่ถูกความร้อนจากในอดีตระหว่างการใช้งาน ทำให้เกิดโครงผลึกภายในคล้ายกับเทปบันทึกเสียงที่ถูกลบทิ้ง ผ่านเวลาเป็นพันปีรังสีธรรมชาติทำให้เกิดอิเล็คตรอนถูกกักเก็บไว้ในโครงผลึก นักวิทยาศาสตร์สามารถปล่อยอิเล็คตรอนออกมาด้วยเทคนิคการหาอายุโดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ (Thermoluminescence dating) ซึ่งสามารถวัดค่าและคำนวณได้ว่าวัตถุโดนความร้อนครั้งสุดท้ายตั้งแต่เมื่อใด

ทีมวิจัยนำฟอสซิลกระดูกขากรรไกรล่างที่พบในถ้ำมาหาอายุด้วยเทคนิค Electron Spin Resonance (ESR) เทียบกับวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ พบว่าฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุราว 300,000 ปี

และจากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT-scan ทีมงานสามารถสร้างกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่บิดเบี้ยวไปจากการถูกกลบฝังขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ พบว่าเป็นใบหน้าที่เล็กและเรียวแบบเดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน แต่กะโหลกหุ้มสมองมีขนาดใหญ่และมีทรงกลมที่ยึดออกไปแบบมนุษย์โบราณซึ่งแสดงว่าสมองยังคงมีวิวัฒนาการอยู่  รูปร่างและอายุของฟอสซิลมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับกะโหลกที่พบที่ Florisbad ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาซึ่งมีอายุ 250,000 ปี กับที่ Omo Kibish ในเอธิโอเปียซึ่งมีอายุ 195,000 ปี แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของมนุษย์มีอยู่ทั่วทั้งทวีป

oldest-homo-sapiens-fossil-4

“รูปร่างภายในของกะโหลกหุ้มสมองจะสะท้อนรูปร่างของสมอง” Philipp Gunz นักบรรพมานุษยวิทยาจากสถาบัน Max Planck กล่าว “การค้นพบของเราบ่งชี้ว่ารูปทรงใบหน้าของมนุษย์ปัจจุบันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มในประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ ส่วนรูปทรงของสมองและอาจรวมไปถึงหน้าที่การทำงานของสมองได้มีวิวัฒนาการอยู่ในวงศ์ตระกูลของมนุษย์เรื่อยมา”

 

ข้อมูลและภาพจาก    mpg.de, newatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *