จากการทำสวนแนวตั้งขนาดย่อมเพื่อสร้างบรรยากาศและความสดชื่นตามศูนย์การค้าและอาคารที่พักอาศัย ขยับขยายไปสู่การทำสวนแนวตั้งขนาดใหญ่โดยรอบและตลอดความสูงของอาคาร กลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการออกแบบอาคารสูงในเมืองใหญ่ ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับทั้งในยุโรป อเมริกา รวมทั้งประเทศจีน
Edificio Santalaia เป็นอาคารที่พักอาศัยบนพื้นที่ 3,117 ตารางเมตร สูง 9 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น สวนแนวตั้งได้รับการออกแบบและจัดทำโดย Ignacio Solano นักชีววิทยาและนักพฤกษศาสตร์ชาวสเปน จากบริษัท Paisajismo Urbano ร่วมกับ Groncol บริษัทออกแบบหลังคาเขียว (Green roof) มีการปลูกพืชชนิดต่างๆ 10 สายพันธุ์ จำนวนทั้งหมดมากกว่า 115,000 ต้น
พืชของสวนที่นี่ไม่ได้ปลูกบนดิน แต่ใช้ระบบไฮโดรโพนิคส์ (Hydroponic Systems) “F+P” ของบริษัท Paisajismo Urbano ซึ่งประกอบด้วยแกนหลักต่อเนื่องกันหลายชุด แต่ละชุดก็จะมีการปลูกพืชพันธุ์ของตัวเอง ส่งน้ำและอาหารมาให้พืชเหล่านี้ด้วยอุปกรณ์จ่ายน้ำจำนวน 42 ชุด มีการประหยัดน้ำด้วยการใช้น้ำจากห้องอาบน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ และมีระบบเซ็นเซอร์วัดความชื้นและรังสีเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการใช้น้ำให้ประหยัดที่สุด
สวนแนวตั้งของ Edificio Santalaia ไม่เพียงแต่ช่วยลดปรากฏการณ์เกาะร้อน (Urban Heat island) หรือโดมความร้อนในเมืองแล้ว ยังผลิตออกซิเจนได้เพียงพอสำหรับ 3,000 คนอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดมลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ได้อีก 745 คัน
สวนแนวตั้งที่น่าอัศจรรย์นี้ใช้เวลาในการออกแบบและจัดทำ 16 เดือน แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ทุกวันนี้มันถูกเรียกเป็น “หัวใจสีเขียวแห่งโบโกตา” ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความยั่งยืนและเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความสำคัญของต้นไม้ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน
ข้อมูลและภาพจาก urbanghostsmedia, treehugger