ในการค้นพบครั้งใหม่นี้ทีมวิจัยได้พบว่าด้วยกระบวนการเฉพาะที่พวกเขาพัฒนาขึ้นภายในน้ำเสียที่ไหลผ่านเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ต่อเนื่องกันหลายชุดได้เกิดคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการสร้างไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ในระหว่างกระบวนการผลิตไฟฟ้า คุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคนี้เกิดขึ้นในส่วนหลังๆของระบบเซลล์เชื้อเพลิงมันจึงไม่ฆ่าจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไปด้วย
ด้วยศักยภาพในการฆ่าเชื้อโรคจึงทำให้ทีมวิจัยเกิดไอเดียที่จะทำการทดสอบอย่างเป็นระบบว่าจะสามารถใช้เซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียได้อย่างไร โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบกับเชื้อโรคสำคัญตัวหนึ่งคือเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (salmonella) ที่เป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ
เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาถูกใส่เข้าไปในระบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดปัสสาวะของมนุษย์ เพื่อวัดค่าประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคภายใต้การทำงานแบบต่อเนื่อง และเมื่อพวกเขานำน้ำที่ผ่านการบำบัดเรียบร้อยแล้วไปวัดระดับเชื้อโรค ปรากฏว่าเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาถูกกำจัดไปมากกว่าสองในสาม
“เรารู้สึกตื่นเต้นกับผลที่ออกมาจริงๆ มันแสดงว่าเรามีระบบทางชีววิทยาที่สามารถบำบัดน้ำเสีย, ผลิตไฟฟ้า และกำจัดเชื้อร้ายได้ในคราวเดียวโดยการทำผ่านระบบระบายน้ำเสีย” Ioannis Ieropoulos หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
เพื่อเป็นการเพิ่มการรับรู้ให้กับโครงการที่ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิของ Bill Gates เจ้าของไมโครซอฟท์นี้ ทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีของพวกเขาไปติดตั้งร่วมกับสุขาเคลื่อนที่ในงานเทศกาลดนตรี Glastonbury music festival ในสหราชอาณาจักร
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากห้องสุขา ‘Pee Power’ จะถูกใช้สำหรับจอแสดงผลข้อมูลข่าวสารในงาน ตามแผนจะมีการบำบัดปัสสาวะ 1,000 ลิตรต่อวัน และผลิตไฟฟ้าสำหรับชุดจอแสดงผลขนาด 10 แผง
“ผลงานในงานเทศกาลดนตรีจะเป็นทางหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Pee Power และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์สามารถจะพัฒนาสำหรับการใช้งานด้านต่างๆทั้งหมดนั้นได้” Ieropoulos กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, mothernature