การแข่งขัน Google Lunar XPRIZE กำลังเข้มข้นและอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย กำหนดเส้นตายของการส่งยานคือสิ้นปี 2017 ขณะนี้เหลือทีมที่ยังแข่งขันอยู่ 4 ทีม หนึ่งในนั้นคือ Moon Express ที่เหลือได้แก่ Synergy Moon (ทีมนานาชาติ), Team Indus (ทีมอินเดีย) และ Hakuto (ทีมญี่ปุ่น)
แต่ Moon Express ที่ปัจจุบันตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดาไม่ได้หยุดอยู่แค่การแข่งขัน Google Lunar XPRIZE เท่านั้น พวกเขาได้วางแผนทำธุรกิจเหมืองบนดวงจันทร์อย่างจริงจัง Moon Express เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐให้นำยานอวกาศพาณิชย์ลงจอดบนดวงจันทร์ได้
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะชนะการแข่งขัน” Bob Richards ซีอีโอของ Moon Express กล่าว
“แต่จากมุมมองทางธุรกิจของเรา นั่นไม่ใช่การพึ่งพาและมันไม่เคยเป็นมาก่อนเลย ดังนั้นเราจะส่งยานให้เร็วที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้”
บริษัทมีแผนการเดินทางไปดวงจันทร์ 3 ครั้งในช่วงสองสามปีข้างหน้า ภาระกิจแรกเรียกว่า “Lunar Scout” เป็นการส่งยาน MX-1 ไปดวงจันทร์ในราวสิ้นปีนี้ ยาน MX-1 มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับหุ่นยนต์ R2-D2 ในภาพยนต์เรื่อง Star Wars แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย บรรทุกน้ำหนักได้ 30 กก. การเดินทางครั้งแรกนี้จะเป็นบรรทุกสิ่งของที่ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ International Lunar Observatory และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในโครงการวิจัยที่เรียกว่า “MoonLight”
การเดินทางครั้งที่สองเรียกว่าภารกิจ “Lunar Outpost” จะเป็นการสำรวจและตั้งค่ายวิจัยที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ นาซาและองค์การอื่นสนใจอย่างมากในการเปลี่ยนน้ำแข็งที่อยู่ในแอ่งบนดวงจันทร์ที่อยู่เงามืดให้เป็นเชื้อเพลิงของจรวด ภารกิจนี้จะเป็นการค้นหาน้ำและวัสดุที่มีประโยชน์อื่น
การเดินทางครั้งที่สามในภารกิจ “Harvest Moon” จะมีขึ้นในปี 2020 ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจของบริษัทนั่นคือการค้นหาแหล่งทรัพยากรบนดวงจันทร์ ในภารกิจนี้จะรวมการส่งยานพร้อมวัสดุจากดวงจันทร์กลับมายังโลกด้วย ในครั้งนี้จะเดินทางด้วยยาน MX-9 ที่ออกแบบรองรับการเก็บตัวอย่างวัสดุและการส่งยานกลับโลก
เป้าหมายของการทำเหมืองบนดวงจันทร์เป็นแร่ธาตุที่หายากบนโลกหลายชนิด ที่สำคัญคือแร่ธาตุที่บนดวงจันทร์มีอย่างอุดมสมบูรณ์คือ Helium-3 ซึ่งในอนาคตอาจเป็นแหล่งพลังงานสำคัญให้กับโลกได้เป็นหมื่นปี
มีความเป็นไปได้ที่จะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากออกทำการสำรวจนอกโลก การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องจริง การแข่งขันด้านอวกาศยิ่งทวีความเข้มข้นร้อนแรงมากขึ้น และในคราวนี้จะเป็นการแข่งขันของภาคเอกชน
วิดีโอด้านล่างแสดงการทำงานของยานสำรวจอวกาศของ Moon Express
ข้อมูลและภาพจาก arstechnica, moonexpress