หิ้งน้ำแข็ง Larsen C เริ่มปรากฏรอยแตกตั้งแต่ปี 2010 และในเดือนพฤศจิกายน 2016 นักวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายภาพรอยแตกขนาดใหญ่วิ่งเป็นแนววัดขนาดได้ยาว 110 กม. กว้าง 91 ม. ลึก 500 ม. จากการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดพบว่ารอยแตกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 6 กรกฏาคม 2017 พบว่ารอยแตกขยายยาวถึง 200 กม. เหลือส่วนที่ยังยึดติดกันอยู่เพียง 5 กม.
วันที่ 12 กรกฏาคม 2017 ทีมวิจัย Project MIDAS ที่เฝ้าติดตามปรากฏการณ์นี้ได้ประกาศว่าส่วนหนึ่งของหิ้งน้ำแข็ง Larsen C ได้แตกหลุดออกจากแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมแผ่นดิน กลายเป็นภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ที่มีขนาดพื้นที่ 5,800 ตร.กม. (ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ต 10 เท่า, ใหญ่กว่ากรุงเทพเกือบ 4 เท่า) มีความหนาเฉลี่ยกว่า 200 เมตร หนักกว่า 1 ล้านล้านตัน เป็นหนึ่งในภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้
แม้ว่าภูเขาน้ำแข็งใหม่ที่ถูกเรียกว่า A-68 จะมีขนาดมหึมาปานนั้น แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำทะเลเพราะว่ามันได้ลอยในทะเลอยู่ก่อนแล้ว แต่การที่มีภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่แตกหลุดออกมาแบบนี้อาจช่วยเร่งการพังทลายของหิ้งน้ำแข็งที่เหลืออยู่ ภูเขาน้ำแข็ง A-68 ทำให้พื้นที่ของหิ้งน้ำแข็ง Larsen C ลดลงไปราว 12%
“แม้ว่านี่จะเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติและเราก็ไม่ได้คิดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ แต่มันทำให้หิ้งน้ำแข็ง Larsen C อยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงอย่างยิ่ง” Martin O’Leary นักธารน้ำแข็งวิทยาจากมหาวิทยาลัยสวอนซี หนึ่งในทีมวิจัย MIDAS กล่าว “นี่เป็นการแตกหลุดของหิ้งน้ำแข็งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ ดังนั้นเราจึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดที่สุดสำหรับสัญญาณการพังทลายของหิ้งน้ำแข็งที่เหลือ”
ส่วนการที่จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับภูเขาน้ำแข็ง A-68 นั้น ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบ Adrian Luckman หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่ามันอาจจะยังเป็นชิ้นเดียวอย่างนี้ แต่ก็น่าจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากกว่า ก้อนน้ำแข็งบางส่วนอาจจะอยู่ในบริเวณเดิมเป็นทศวรรษ และอาจจะมีบางส่วนลอยขึ้นไปทางเหนือที่มีน้ำอุ่นกว่า
ข้อมูลและภาพจาก livescience, wikipedia