โรงไฟฟ้า Aurora จะประกอบด้วยกระจกสะท้อนแสงที่เรียกว่า Heliostat จำนวนมากติดตั้งเรียงรายล้อมรอบหอคอยที่อยู่ตรงกลางเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังส่วนยอดหอคอยซึ่งจะเป็นที่เก็บพลังงานความร้อนเอาไว้ด้วยเกลือหลอมเหลว (Molten Salt) เมื่อต้องการผลิตไฟฟ้าเกลือหลอมเหลวจะถูกส่งไปใช้ต้มน้ำเพื่อนำเอาไอน้ำไปขับดันกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
เกลือหลอมเหลวจะเก็บพลังงานความร้อนไว้ได้มากถึง 1,100 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าแบบเต็มที่ต่อเนื่องได้นาน 8 ชั่วโมง นั่นหมายถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง
โรงไฟฟ้า Aurora มีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับบ้าน 90,000 หลัง และผลิตไฟฟ้าได้ 495 ล้านยูนิตต่อปี หรือเท่ากับ 5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย จะเริ่มก่อสร้างในปีหน้าและจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2020 ใช้เงินลงทุน 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ลักษณะสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์อยู่ที่มันสามารถจ่ายพลังงานได้ตามที่ต้องการด้วยการเก็บพลังงานความร้อนเอาไว้สำหรับเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า” Wasim Saman อาจารย์ด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียกล่าว “นี่เป็นวิธีการเก็บพลังงานที่ประหยัดกว่าการใช้แบตเตอรี่”
โรงไฟฟ้าแบบโซลาร์ฟาร์มใช้แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ในการเก็บพลังงานส่วนเกินเอาไว้ใช้ตอนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ใช้กระจกรวมแสงอาทิตย์เก็บเอาไว้ในรูปของพลังงานความร้อนซึ่งสามารถนำมาใช้ตามที่ต้องการได้ โดยเฉพาะการใช้เกลือหลอมเหลวที่เก็บความร้อนไว้ได้สูงมากนั้นเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าการใช้แบตเตอรี่
ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่มากอีกสองแห่ง แต่มีกำลังการผลิตจากหอคอยเดียวไม่มากเท่าโรงไฟฟ้า Aurora แห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้า The Ivanpah Solar Electric facility ที่แคลิฟอร์เนียประกอบด้วย 3 หอคอย กำลังการผลิตรวม 392 เมกะวัตต์ อีกแห่งเป็นโครงการของ SolarReserve ในชิลีที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ จะมี 2 หอคอย กำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์
วิดิโอด้านล่างเป็นกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าที่ใช้เกลือหลอมเหลวของบริษัท SolarReserve
ข้อมูลและภาพจาก solarreserve, newatlas