The Day the Earth Smiled
เมื่อ 19 กรกฎาคม 2013 ยานแคสซีนีและดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งที่สามารถถ่ายได้ภาพที่เห็นจุดสีฟ้า (ลูกศรชี้) นั่นคือโลกของเรามองเห็นจากระยะ 1.44 พันล้านกิโลเมตร ว้าววว! โลกกำลังส่งยิ้มให้เรา
Saturn in summer
ดาวเสาร์ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นานถึง 30 ปี ดังนั้นแต่ละฤดูกาลจึงยาวนานกว่า 7 ปี ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2016 ซีกด้านเหนือที่ได้รับแสงอาทิตย์อยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่วนซีกด้านใต้เป็นฤดูหนาว
Rings and Tethys
ทีทิส (Tethys) ดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของดาวเสาร์มีองค์ประกอบเกือบทั้งหมดเป็นน้ำแข็งจึงสะท้อนแสงได้ดี ในภาพนี้แสงของมันไม่ได้เป็นแสงจากดวงอาทิตย์แต่เป็นแสงสะท้อนจากดาวเสาร์
The Great Hexagon
ขั้วเหนือของดาวเสาร์มีลักษณะเป็นพายุเมฆขนาดยักษ์รูปหกเหลี่ยมที่ไม่เหมือนดาวอื่นใดในระบบสุริยะ เป็นรูปหกเหลี่ยมขนาด 13,800 กิโลเมตร ใหญ่กว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก ช่วงครึ่งแรกของการสำรวจยานแคสซีนียังไม่เห็นมันเพราะขั้วเหนือเป็นช่วงฤดูหนาวอยู่ในเงามืด แต่หลังจากนั้นมันก็ปรากฏและยังมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ระหว่างปี 2012 – 2017 เมฆหกเหลี่ยมเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีเหลืองทอง ซึ่งนักวิจัยของนาซาเชื่อว่าอาจจะเกิดจากปฏิกิริยาของแสงอาทิตย์กับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ
The jets of Enceladus
ยานแคสซีนีค้นพบน้ำบนดวงจันทร์บริวาร 2 ดวงได้แก่ เอนเซลาดัสและไททัน นี่น่าสนใจเป็นพิเศษคือไอน้ำที่พ่นออกมาจากดาวเอนเซลาดัส การค้นพบเกิดขึ้นในปี 2005 ไอน้ำพุนี้มาจากมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็งของเอนเซลาดัส ยานแคสซีนีได้บินผ่านม่านไอน้ำนี้และได้ตรวจวัดพบโมเลกุลของไฮโดรเจน นักวิจัยเชื่อว่าน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่ดาวดวงนี้
Iridescent Titan
ไททันเป็นดวงจันทร์ที่มีบรรยากาศพร่ามัวมองไม่ค่อยเห็น ยานแคสซีนีใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพอินฟราเรดเป็นภาพโมเสกเผยให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวของไททัน แม้ว่ามันจะมีแสงแวววาวคล้ายโอปอลแต่สีที่เห็นในภาพนี้ไม่ใช่สีจริงซึ่งจะออกในโทนน้ำตาล-ส้ม
Saturn is so beautiful
เพราะว่าโลกอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดาวเสาร์ เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็นดาวเสาร์ด้านมืดจากกล้องโทรทรรศน์บนโลก ภาพถ่ายสุดสวยของดาวเสาร์ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2006 ขณะที่ดาวเสาร์และวงแหวนได้รับแสงจากทางด้านหลัง ภาพนี้นอกจากจะสวยงามอย่างยิ่งแล้วมันยังให้ข้อมูลที่มีค่ามากมาย รวมทั้งการได้เห็นวงแหวนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 2 วงได้แก่ วงแหวน Janus/Epimetheus และวงแหวน Pallene
An abundance of moons
ภาพนี้แสดงดวงจันทร์ของดาวเสาร์ถึง 5 ดวงจากทั้งหมดที่ยืนยันแล้ว 53 ดวง จากด้านซ้ายมือ เจนัสโคจรอยู่รอบนอกวงแหวน A ถัดมาเป็นแพนโดราที่อยู่ระหว่างวงแหวน A กับวงแหวน F ดวงที่สว่างเป็นพิเศษก็คือเอนเซลาดัส ดวงถัดมาคือไมมัส และดวงใหญ่ด้านขวาสุดเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของดาวเสาร์คือรีอา
A triple crescent
ภาพจันทร์เสี้ยว 3 ดวงนี้เหมือนกับอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว ไททันเป็นดวงที่ใหญ่ที่สุดในภาพ สามารถมองเห็นบรรยากาศที่พร่ามัวของมัน ส่วนแสงสว่างรอบนอกจันทร์เสี้ยวนั้นเป็นแสงที่หักเห ดวงที่มีขนาดใหญ่รองลงมาคือรีอา ดวงเล็กสุดคือไมมัสที่มองเห็นผิวขรุขระจากหลุมอุกกาบาตที่มีมากมายบนผิวของมัน
Where there’s water…
ภาพนี้แสดงให้เห็นวงแหวนตัดกับดวงจันทร์ที่มีน้ำทั้งสองดวงของดาวเสาร์ ดวงที่อยู่ด้านหน้าคือเอนเซลาดัส ดวงใหญ่ด้านหลังคือไททัน โดยมีแสงอาทิตย์ส่องอยู่ด้านหลัง ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหมอกของไททันแสงอาทิตย์เกิดการหักเหทำให้ดูเหมือนกับสุริยุปราคาวงแหวน
The rose
ที่ศูนย์กลางของเมฆหกเหลี่ยมรอบขั้วเหนือของดาวเสาร์เป็นกระแสหมุนวนของพายุคลุ้มคลั่ง ดวงตาของพายุนี้มีขนาด 2,000 กิโลเมตรมีความเร็วถึง 530 กม./ชม. ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 สีในภาพไม่ใช่สีจริง สีแดงแสดงเมฆที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า สีเขียวแสดงเมฆที่มีระดับสูงกว่า
Spongy Hyperion
ยานแคสซีนีบินเฉียดผ่านดวงจันทร์ไฮพีเรียนในปี 2005 และได้ถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นรายละเอียดที่แปลกประหลาดของพื้นผิวเอาไว้ ยังไม่มีคำอธิบายถึงผิวประหลาดคล้ายฟองน้ำนี้ แต่นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่ต่ำผิดปกติทำให้เกิดรูพรุนมากมาย
Daphnis making waves
ดาวเสาร์มีดวงจันทร์หลายดวงที่โคจรอยู่ตามขอบของวงแหวนที่ถูกเรียกเป็น shepherd moons ดวงจันทร์แดฟนิส (Daphnis) ถูกค้นพบโดยทีมงานของแคสซีนี มันโคจรอยู่ในช่องว่าง Keeler Gap ขนาดกว้าง 42 กิโลเมตรในวงแหวน A ของดาวเสาร์ แต่มันมีการเยื้องศูนย์เล็กน้อย ระยะห่างของมันจากดาวเสาร์เปลี่ยนแปลงไปมาราว 9 กิโลเมตร มันเคลื่อนที่ขึ้นๆลงๆราว 17 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดคลื่นตามขอบของช่องว่างทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง
Saturn’s aurora
ยานแคสซีนีถ่ายภาพอินฟราเรดขั้วใต้ของดาวเสาร์ในปี 2010 ทำให้เป็นครั้งแรกที่ได้ศึกษาเรื่องแสงออโรราของดาวเสาร์ นักวิจัยพบว่าแสงออโรราของดาวเสาร์เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับโลก อนุภาคในย่านสนามแม่เหล็กกำลังสูงจากลมสุริยะไปยังขั้วดาวทำปฏิกิริยากับพลาสมาในบรรยากาศชั้นบนเกิดเป็นแสงสวยงาม แต่สำหรับดาวเสาร์ดวงจันทร์ของมันมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยยามที่มันโคจรผ่านบริเวณย่านสนามแม่เหล็กกำลังสูง
Splashing rings
ขอบของวงแหวนดาวเสาร์ไม่ได้ราบเรียบ ภาพนี้แสดงขอบของวงแหวน B ที่ประกอบด้วยโครงสร้างคล้ายหอคอยสูงถึง 2.5 กิโลเมตรจนมองเห็นเงาได้อย่างชัดเจน เรายังไม่รู้แน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงสร้างแบบนี้ นักวิจัยเชื่อว่าดาวจันทร์ดวงเล็กๆที่โคจรผ่านขอบวงแหวนแล้วผลักดันให้เกิดเป็นลักษณะนี้ ปรากฏการณ์นี้จะมองเห็นได้เพียงครั้งเดียวในทุกๆ 15 ปี และเฉพาะในวันที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน (Equinox) เท่านั้น
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, nasa