ระบบจำนวนนับสมัยใหม่ใช้ระบบเลขฐาน 10 ซึ่งพอเปลี่ยนหลักก็จะใช้วิธีเติมเลขศูนย์ทางขวามือ ทำให้เราแยกความแตกต่างระหว่าง 1, 10 และ 100 ได้ดี ระบบจำนวนนับของชาวมายันและบาบิโลนโบราณก็ใช้สัญลักษณ์เลขศูนย์ที่คล้ายกัน ส่วนระบบตัวเลขของชาวอินเดียโบราณที่น่าจะวิวัฒนาการมาเป็นตัวเลข “0” ในปัจจุบันนั้นใช้สัญลักษณ์จุด “•” แทน
สัญลักษณ์ “•” นี้ปรากฏอยู่ในทั้งข้อความจารึกบนผนังของโบสถ์ในรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ของอินเดีย และในแผ่นจารึกที่ทำจากเปลือกไม้ที่ขุดพบที่หมู่บ้าน Bakhshali ในอินเดียโบราณ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) เมื่อปี 1881 โบสถ์ดังกล่าวมีอายุย้อนหลังถึงศตวรรษที่ 9 ส่วนแผ่นจารึกจากการศึกษาก่อนหน้านี้ได้ประมาณอายุไว้ที่ระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 12
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้หาอายุของแผ่นจารึกด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี กลับพบว่ามันมีอายุย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 3 หรือ 4 นั่นคือมีอายุราว 1,800 ปี มากกว่าที่เคยคิดไว้ถึง 500 ปี ทำให้สัญลักษณ์จุดบนแผ่นจารึกกลายเป็นการเขียนเลขศูนย์ครั้งแรกเท่าที่เคยพบมา
“ทุกวันนี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเลขศูนย์ที่ถูกใช้กันทั่วโลกและยังเป็นตัวเลขหลักในระบบดิจิตอล แต่การสร้างเลขศูนย์ที่วิวัฒนาการมาจากสัญลักษณ์จุดที่พบในแผ่นจารึก Bakhshali ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของคณิตศาสตร์” Marcus du Sautoy ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนโน้นที่นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียได้ปลูกเมล็ดพันธ์ุของความคิดเอาไว้จนต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในโลกสมัยใหม่ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในวิชาคณิตศาสตร์ที่ประเทศอินเดียเมื่อหลายศตวรรษก่อน”
ด้วยเทคนิคของคาร์บอนกัมมันตรังสีที่ใช้หาอายุของแผ่นจารึกทำให้ทราบว่าเหตุใดก่อนนี้จึงไม่สามารถชี้ชัดถึงอายุของมันได้ ทีมวิจัยพบว่าแผ่นจารึกที่ประกอบด้วยแผ่นเปลือกไม้จำนวน 70 ชิ้นทำมาจากวัสดุที่มาจาก 3 ช่วงอายุ
งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยห้องสมุด Bodleian Libraries ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาแผ่นจารึก Bakhshali มาตั้งแต่ปี 1902
ข้อมูลและภาพจาก ox.ac.uk, newatlas