ทีมนักวิจัยได้เชื่อมโยงหลักฐานการเกิดภูเขาไฟระเบิดที่พบในแกนน้ำแข็ง (ice cores) เข้ากับรูปแบบน้ำท่วมล้นตามฤดูกาลของแม่น้ำไนล์ ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอันเป็นสายเลือดจำเป็นต่อการดำรงชีพของชาวอียิปต์ซึ่งอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆเร็วขึ้นและนำไปสู่ความตกต่ำและล่มสลายในที่สุด
ทีมวิจัยอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ให้รายละเอียดการเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งสำคัญตลอด 2,500 ปีที่ผ่านมา ปัญหาไม่ได้เกิดจากลาวาไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่ แต่เถ้าภูเขาไฟและอนุภาคของซัลเฟอร์สามารถทำให้เกิดละอองที่กระจายขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์และสะท้อนแสงอาทิตย์จนมีผลกระทบต่ออุณหภูมิและฝนในพื้นที่ห่างไกลจากจุดที่เกิดการระเบิด
เพื่อดูว่าสภาพอากาศของอียิปต์ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดหรือไม่อย่างไร นักวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลที่ al-Miqyas หรือ the Islamic Nilometer สิ่งก่อสร้างน่าทึ่งที่ได้บันทึกระดับน้ำสูงสุดของแม่น้ำไนล์ในช่วงฤดูร้อนมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 ทำให้นักวิจัยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำของแม่น้ำไนล์กับปีที่เกิดภูเขาไฟระเบิดตามที่ต่างๆบนโลก สำหรับช่วงเวลาก่อนหน้านั้นนักวิจัยต้องขุดลึกลงไปอีกและแปลบันทึกทางประวัติศาสตร์ประกอบกัน
ผลที่ได้คือการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำไนล์ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของอียิปต์ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก และแม่น้ำไนล์ก็มีการผันแปรในระดับสูง
ปีไหนแม่น้ำไนล์มีน้ำมาก พื้นที่ตามหุบเขารอบข้างซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญที่สุดของอียิปต์ก็จะมีผลผลิตดีตามไปด้วย ทุกวันนี้เรารู้จักแม่น้ำไนล์ในฐานะเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก แต่สมัยอียิปต์โบราณมันคือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง หากปีไหนแม่น้ำไนล์น้ำแล้งนั่นหมายถึงหายนะของชาวอียิปต์
ทุกฤดูร้อนลมมรสุมจากแถบศูนย์สูตรจะพัดเข้ามาพร้อมกับฝนถึงแม่น้ำไนล์ด้านบน น้ำและดินโคลนไหลลงสู่แม่น้ำ หากปราศจากดินที่อุดมสมบูรณ์และน้ำการเพาะปลูกของชาวอียิปต์ก็จะไม่ได้ผล นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร
จากผลการศึกษาพบว่าเมื่อ 44 ปีก่อนคริสต์ศักราชมีการปะทุของภูเขาไฟอย่างรุนแรงเกิดขึ้นที่ไหนสักแห่งบนโลก ระเบิดเอาเถ้าและแก๊สร้อนจำนวนมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หยุดยั้งการเกิดฝนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เกิดโรคระบาด และการก่อความไม่สงบ ในที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้อำนาจของคลีโอพัตราอ่อนแอลงในช่วงสิบกว่าปีก่อนที่เธอจะพ่ายแพ้ในสงครามเมื่อ 30 ปีก่อนคริสต์ศักราช
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบหลักฐานอ้างอิงของภาวะการขาดแคลนอาหาร การลุกขึ้นต่อต้าน และแผ่นดินเปลี่ยนเป็นทะเลทรายในบักทึกกระดาษปาปิรุสจำนวนมากที่สัมพันธ์กับการระเบิดของภูเขาไฟที่พบในแกนน้ำแข็งใน 209 ปีก่อนคริสต์ศักราชและ 238 ปีก่อนคริสต์ศักราช
“นักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อว่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จะเกิดจากอิทธิพลของสภาพสิ่งแวดล้อม ผู้คนไม่ชอบที่จะรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เหนือการควบคุมของพวกเขา เขาชอบอธิบายประวัติศาสตร์ด้วยการบอกว่าผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรไว้” Francis Ludlow นักประวัติศาสตร์ภูมิอากาศ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “เราไม่ได้บอกว่าให้โยนหนังสือประวัติศาสตร์ทิ้งไป เราแค่บอกว่านี่เป็นมุมมองใหม่”
ข้อมูลและภาพจาก theguardian, sciencealert