Lusi เริ่มปะทุตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2006 พ่นโคลนออกมาจำนวนมหาศาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ช่วงสูงสุดในเดือนกันยายน ปี 2006 มันพ่นโคลนออกมามากถึง 180,000 คิวบิกเมตรต่อวัน ซึ่งมากพอสำหรับถมเต็มสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก 72 สระ ปัจจุบันก็ยังพ่นโคลนออกมาวันละ 80,000 คิว
โคลนที่ถูกพ่นออกมากลายเป็นทะเลโคลนไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ฝังหมู่บ้านข้างเคียงจมลึก 40 เมตร ต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ 60,000 คน และมีคนตาย 13 คน แม้ว่าในปี 2008 จะได้สร้างคันดินกั้นโคลนไว้แล้ว แต่ก็ยังมีโคลนไหลไปสร้างความเสียหายกับถนนและหมู่บ้านอยู่เสมอ
นักธรณีวิทยาบางคนคิดว่า Lusi เกิดจากการทะลักออกมาไม่หยุดของบ่อก๊าซธรรมชาติที่เจาะโดยบริษัท PT Lapindo Brantas แต่มีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นและเจ้าหน้าที่ของบริษัทโต้แย้งว่าเกิดจากแผ่นดินไหว
เมื่อสองปีที่แล้วทีมวิจัยได้ติดตั้งเครื่องซิสโมมิเตอร์ 31 เครื่องรอบเนินพุโคลน Lusi และภูเขาไฟที่อยู่ข้างเคียง นักวิจัยสามารถใช้เครื่องนี้วัดความสั่นไหวของพื้นดินขณะเกิดแผ่นดินไหว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้มันสร้างภาพ 3 มิติของบริเวณใต้ภูเขาไฟได้ด้วย
จากการใช้ข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องซิสโมมิเตอร์นาน 10 เดือน ทีมวิจัยได้สร้างภาพบริเวณใต้ Lusi และพื้นที่โดยรอบ จึงพบว่ามีอุโมงค์และช่องโพรงอากาศใต้ดินยาว 6 กิโลเมตรเชื่อมต่อแอ่งแมกมาของภูเขาไฟ Arjuno-Welirang เข้ากับแอ่งตะกอนข้างใต้เนินพุโคลน Lusi
แมกมาร้อนจัดจากภูเขาไฟที่ถูกปั๊มไปยัง Lusi ได้อบตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอินทรีย์เกิดเป็นก๊าซกักเก็บอยู่ใต้พื้นผิวดิน ก๊าซถูกกักเก็บสะสมจนมีความดันสูงซึ่งคาดว่าเมื่อได้รับแสงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจึงปะทุขึ้นมา โดยนักวิจัยคิดว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่ขย่มเกาะชวา 2 วันก่อนโคลนถูกพ่นออกมาจะเป็นตัวการ และโคลนที่ Lusi พ่นมาจากตะกอนที่วางตัวอยู่ในแอ่งตะกอนนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า Lusi จะยังปะทุต่อไปอีกนานเท่าไร อาจจะนานถึง 15 – 20 ปี แม้ว่าเนินพุโคลนจะเป็นเรื่องธรรมดาบนเกาะชวา แต่ Lusi เป็นทั้งเนินพุโคลนและปล่องน้ำร้อน (Hydrothermal Vent) และการเชื่อมต่อกับภูเขาไฟของมันทำให้เกิดการอบชั้นตะกอนไปอีกนานหลายปี
“นั่นหมายถึงว่า Lusi จะไม่หยุดพ่นโคลนในเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน” Stephen Miller หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, express.co.uk