จากงานวิจัยล่าสุดยืนยันแล้วว่าแผงโซลาร์เซลล์ Soliculture LUMO ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่ต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปนั้น ไม่มีผลทางลบต่อการเจริญเติบโตของพืช และยังช่วยเร่งผลผลิตได้ในพืชบางชนิดและลดการใช้น้ำลงอีกด้วย
Soliculture LUMO เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดเลือกความยาวคลื่นแสง (Wavelength-Selective Photovoltaic Systems – WSPVs) ซึ่งมีแถบโซลาร์เซลล์แคบๆฝังอยู่ในสารเรืองแสงสีแดงอมม่วงที่สามารถดูดซับแสงอาทิตย์ในช่วงความยาวคลื่นแสงสีน้ำเงินและสีเขียว และเปลี่ยนแสงสีเขียวให้เป็นสีแดงซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการสังเคราะห์แสงของพืช
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของแผงโซลาร์เซลล์ Soliculture LUMO ก็คือมีราคาต่ำ มันมีราคาราว 65 เซ็นต์ต่อวัตต์ซึ่งต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้งานกันทั่วไปอยู่ราว 40%
Michael Loik ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ UCSC ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ได้ทำการตรวจสอบผลกระทบต่อกลไกชีวภาพของพืชจากการใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดเลือกความยาวคลื่นแสง หรือ WSPVs ได้ผลสรุปว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยพัฒนาโรงเรือนปลูกพืชรุ่นใหม่ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและน้ำสูงสุด
Loik บอกว่า 80% ของพืชชุดแรกที่ปลูกในโรงเรือนสีม่วงแดงของแผงโซลาร์แบบใหม่นี้ไม่มีผลกระทบใดๆเลยภายใต้แสงที่เปลี่ยนสี ขณะที่อีก 20% เจริญเติบโตได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทีมวิจัยที่นำโดย Loik ได้เฝ้าติดตามทั้งอัตราการสังเคราะห์แสงและผลผลิตของพืช 20 ชนิด เช่น มะเขือเทศ แตงกวา สตรอเบอร์รี่ พริกไทย โหระพา และมะนาว ที่ปลูกในโรงเรือน 3 แห่ง พวกเขายังไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะอะไร 20% ของพืชถึงได้เจริญเติบโตดีอย่างมาก และยังพบว่ามะเขือเทศใช้น้ำน้อยลง 5%
“เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโรงเรือนปลูกพืชโซลาร์ใหม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยที่ไม่ลดอัตราการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ซึ่งมันน่าตื่นเต้นมาก” Loik กล่าว
เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะโรงเรือนปลูกพืชจะต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการปลูกพืช และต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากสำหรับพัดลม เซ็นเซอร์และอุปกรณ์ควบคุมสภาพอากาศ และแสงสว่าง โรงเรือนปลูกพืชเพิ่มมากขึ้น 6 เท่าตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และความต้องการไฟฟ้าของโรงเรือนปลูกพืชก็เพิ่มตามขึ้นด้วย เทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนได้ราว 20 – 30% รวมทั้งในอนาคตโรงเรือนปลูกพืชอาจสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าเลยก็เป็นได้
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, phys.org