ตามแบบจำลองของการวิจัยพบว่าระดับราคาต้นทุนพลังงานทั้งหมดจะลดลงจาก 70 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงในปัจจุบันเหลือ 52 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงภายในปี 2050 และในการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างตำแหน่งงานใหม่อีก 36 ล้านตำแหน่งด้วย
แน่นอนบางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับบางคนยังรู้สึกว่ามันช้าเกินไปด้วยซ้ำ หากพิจารณาจากการปล่อยคาร์บอนจากแบบจำลองนี้จะเห็นว่ามันลดลงอย่างรวดเร็วถึง 80% ในระหว่างปี 2020 – 2030 และใช้เวลาอีก 20 ปีค่อยๆลดลงจนเป็นศูนย์ในปี 2050 และดูจากกราฟการปล่อยคาร์บอนแบบแยกตามภูมิภาคด้านล่างเห็นได้ชัดเลยว่าประเทศไหนเป็นตัวการสำคัญ ก็ประเทศยักษ์ใหญ่สองอันดับแรกของโลกนั่นแหละ
ในงานวิจัยยังได้เน้นย้ำว่าจำเป็นจะต้องใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทุกชนิด คลังและอุปกรณ์เก็บพลังงานทุกรูปแบบ รวมไปถึงเทคโนโลยีการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า และยังฉายภาพให้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากของฟาร์มโซลาร์และคลังแบตเตอรี่เนื่องจากราคาที่ลดลง พลังงานลมจะเป็นคู่แข่งสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ช่วงสั้นๆในทศวรรษ 2020 แต่ในที่สุดจะลดบทบาทลงไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% แต่คราวนี้มันมีโอกาสเป็นจริงตามงานวิจัยสูงมากด้วยปัจจัยหลายอย่าง และตอนนี้ก็เริ่มมีบางประเทศได้ประกาศเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% กันบ้างแล้ว
ประเทศสกอตแลนด์ใช้เวลา 15 ปีที่ผ่านมาเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าจาก 10% เป็น 60% และได้ประกาศยืนยันออกมาแล้วว่าจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2020
นิวซีแลนด์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้ประกาศเป้าหมายในเรื่องนี้แล้วเช่นกัน หลังจากได้นายกรัฐมนตรีผู้หญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก Jacinda Ardern เมื่อเดือนที่แล้ว หลังรับตำแหน่งเพียงไม่นานเธอก็ได้ประกาศเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2035
นี่คือแนวโน้มและทิศทางด้านพลังงานของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากประเทศไหนยังฝักใฝ่อยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่รีบปรับตัวและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนให้ทันกับชาวบ้าน มีหวังได้เป็นประเทศล้าหลังของโลกไปอีกนานแสนนาน
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, energywatchgroup.org