เด็กมีปัญหาเร่ร่อนค้นหาตัวเองไม่เจอ
แวนโก๊ะเป็นชาวดัชต์เกิดเมื่อปี 1853 ที่เมือง Zundert ทางภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ เป็นคนเคร่งขรึมจริงจังและคิดมากแต่ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก เขาถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำชั้นประถมซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าถูกทอดทิ้งและเริ่มเก็บกด แวนโก๊ะออกจากโรงเรียนกลางคันตอนชั้นมัธยมเพราะไม่มีความสุขกับการเรียน เขาจึงเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุแค่ 16 ปี ด้วยการเป็นพนักงานของบริษัทตัวแทนจำหน่ายงานศิลปะ ถูกส่งไปประจำสาขาลอนดอนในปี 1873 แรกๆก็ดูเหมือนจะไปได้ดี แต่หลังจากย้ายไปอยู่ที่สาขาปารีสเกิดขัดแย้งเรื่องที่บริษัทเอางานไม่ดีมาหลอกขายลูกค้าจนถูกไล่ออก
แวนโก๊ะกลับไปเป็นครูสอนโรงเรียนประจำที่อังกฤษอยู่พักหนึ่งแต่ไปไม่รอด ต่อมาไปเป็นพนักงานร้านขายหนังสือที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเขาก็ไม่ชอบอีก จึงหันไปเอาดีทางศาสนาทั้งการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการปฏิบัติตนจนกลายเป็นผู้เคร่งครัดทางศาสนาและตัดสินใจจะเป็นบาทหลวง จึงไปสอบเข้าเรียนศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมแต่สอบไม่ติด เขาไปเรียนนักเทศน์ที่เบลเยียมแต่ล้มเหลวอีก แวนโก๊ะจึงไปเป็นนักเทศน์ในเหมืองถ่านหินแห่งหนึ่งในเบลเยียมแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เขาเร่ร่อนอยู่ในเบลเยียมเกือบสองปีจนพ่อของเขาแนะนำให้ไปเข้าโรงพยาบาลโรคจิต สุดท้ายเขาได้มาพักกับพวกคนทำเหมืองที่เมือง Cuesmes และที่นี่เองที่แวนโก๊ะเริ่มสนใจเขียนภาพผู้คนและทัศนียภาพรอบตัว เขาจึงหันมาศึกษาศิลปะอย่างจริงจังและเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะที่เมืองบรัสเซลส์ตอนปลายปี 1880
ผิดหวังซ้ำซากกับความรักที่ไม่เคยลงเอยด้วยดี
ปี 1881 แวนโก๊ะกลับไปอยู่ที่บ้านกับครอบครัวซึ่งย้ายไปที่เมือง Etten เมื่อหลายปีก่อน เขาได้พบกับ “Kee” ญาติฝ่ายแม่ที่อายุมากกว่าเขา 7 ปี เพิ่งเป็นหม้ายและมีลูกชาย 8 ขวบคนหนึ่ง แวนโก๊ะชอบเธอ ได้บอกรักและขอแต่งงานกับเธอ แต่เธอปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ปีต่อมาระหว่างเรียนการเขียนภาพกับญาติที่เป็นศิลปินผู้ประสบความสำเร็จ แวนโก๊ะพบรักใหม่อยู่กินกับ “Sien” อดีตหญิงโสเภณีติดเหล้ามีลูกติดหนึ่งอยู่ในท้องอีกหนึ่ง สร้างความผิดหวังให้กับครอบครัวของเขาอย่างมาก พ่อของเขากดดันให้แวนโก๊ะเลิกกับ Sien ซึ่งเขาไม่ทำตาม แต่พอปลายปีถัดมาเขาก็ต้องไปจาก Sien เมื่อความยากจนผลักดันให้เธอกลับไปเป็นโสเภณีอีกครั้ง และแวนโก๊ะตระหนักได้ว่าชีวิตครอบครัวไม่เหมาะกับการพัฒนาตัวเองให้เป็นศิลปิน
แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่เมือง Nuenen และพัฒนาฝีมือในการเขียนภาพและวาดรูป เขาเริ่มมีผลงานทั้งภาพสเก๊ตช์และภาพเขียน ปี 1884 “Margot” ลูกสาวเพื่อนบ้านอายุมากกว่าเขา 12 ปีมาติดพันแวนโก๊ะ เธอรักเขาและเขาก็ชอบเธอ ทั้งสองต้องการแต่งงานกัน แต่ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายไม่เห็นชอบ Margot คลุ้มคลั่งกินสตริกนินเข้าไปจำนวนมาก เคราะห์ดีที่แวนโก๊ะช่วยพาไปส่งโรงพยาบาลได้ทัน นี่เป็นความผิดหวังของแวนโก๊ะอีกครั้งหนี่งกับความรักที่ไม่เคยลงเอยด้วยดี
ศิลปะคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตและจิตใจ
ปี 1880 แวนโก๊ะเขียนจดหมายถึงธีโอ (Theo) น้องชายของเขาผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลือเขามาโดยตลอดว่า เขาค้นพบแล้วว่า “ศิลปะคือทุกสิ่งทุกอย่างของเขาและเข้ามาแทนที่สิ่งอื่นๆจนหมด เขาจะใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมาบ้างแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่ต่อจากนี้ไปมันคือชีวิตจิตใจของเขา” และเขาก็มุ่งมั่นพัฒนาฝีมืออย่างจริงจัง
สองปีที่แวนโก๊ะอยู่ที่เมือง Nuenen เขาได้เขียนภาพและวาดรูปได้จำนวนมาก ทั้งภาพสเก๊ตช์ ภาพสีน้ำ และภาพสีน้ำมันอีกเกือบ 200 ภาพ ปี 1885 แวนโก๊ะเขียนภาพ Still Life หรือภาพหุ่นนิ่งไว้เป็นจำนวนมาก (ภาพ Still Life เป็นการนำเอาวัตถุธรรมชาติหรือข้าวของเครื่องใช้มาจัดวางแล้วเขียนภาพออกมาให้สวยงาม โดยเน้นการจัดวางองค์ประกอบและการใช้แสง) สีที่เขาใช้เป็นสีเอิร์ธโทนสลัวๆโดยเฉพาะสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีวี่แววของสีสันสดใสที่โดดเด่นในงานยุคหลังของเขาเลยแม้แต่น้อย
ในช่วงเวลานี้เองที่แวนโก๊ะเขียนผลงานชิ้นเอกภาพแรกของเขา The Potato Eaters และภาพเขียนชุด Peasant Character Studies เขาส่งภาพไปให้ธีโอขายที่ปารีสแต่ไม่มีใครซื้อเนื่องจากภาพของเขามืดสลัวเกินไป ต่างกับความนิยมในยุคนั้นที่ชื่นชอบสีสันสว่างสดใสสไตล์ลัทธิประทับใจ (Impressionism)
แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่เมือง Antwerp ใช้ชีวิตเป็นศิลปินไส้แห้งอยู่อย่างอัตคัตกินแค่ขนมปังกับกาแฟแต่ดื่มหนักสูบบุหรี่จัด สุขภาพไม่ค่อยดีเข้าโรงพยาบาลบ่อย เงินที่ธีโอส่งมาให้ส่วนใหญ่หมดไปกับวัสดุในการเขียนภาพและค่านางแบบ ที่นี่เขาได้พัฒนาการเขียนภาพด้วยการศึกษาทฤษฎีสี ศึกษาผลงานของ Peter Paul Rubens ศิลปินชื่อดังที่พิพิธภัณฑ์ และเริ่มขยับขยายไปใช้สีที่สดใสมากขึ้น ได้รู้จักกับภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลต่อสไตล์การเขียนภาพในภายหลัง และได้เข้าเรียนที่สถาบันศิลปะของเมืองนี้ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในเทคนิคการเขียนภาพของตัวเองจึงเกิดความขัดแย้งกับครูผู้สอนและเรียนไม่จบ ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ปารีส
จากความมืดสลัวสู่ความสว่างสดใสในปารีส
แวนโก๊ะไปพักอยู่กับธีโอที่ย่าน Montmartre และเรียนศิลปะต่อ ที่ปารีสเขาได้เขียนภาพบุคคล ภาพ Still Life และภาพทิวทัศน์ของปารีส แวนโก๊ะสะสมภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบไว้หลายร้อยภาพ และได้ศึกษาผลงานของศิลปินมากมายหลายคน ปี 1886 มีการจัดแสดงศิลปะลัทธิผสานจุดสี (Pointillism) และศิลปะลัทธิประทับใจใหม่ (Neo-impressionism) แวนโก๊ะสนใจในเทคนิคผสานจุดสีซึ่งเป็นการใช้จุดสีเล็กๆหลายสีผสานกันขึ้นเป็นภาพ เป็นเทคนิคที่เน้นใช้คู่สีตรงกันข้าม (เช่น น้ำเงินกับส้ม) มาสร้างความสว่างสดใส เขาได้ศึกษาผลงานของ Georges Seurat และ Paul Signac และนำเทคนิคผสานจุดสีมาใช้ในการพัฒนาสไตล์การเขียนภาพของตัวเอง
ปลายปี 1887 แวนโก๊ะได้พบกับปอล โกแก็ง (Paul Gauguin) ศิลปินชั้นนำในยุคนั้นซึ่งเพิ่งจะมาถึงปารีส ทั้งสองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องศิลปะ แลกเปลี่ยนภาพเขียนกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีจนกลายเป็นเพื่อนกัน ต้นปี 1888 แวนโก๊ะรู้สึกเบื่อชีวิตที่ปารีสจึงตัดสินใจย้ายออกไป สองปีที่อยู่ในปารีสแวนโก๊ะเขียนภาพไว้มากกว่า 200 ภาพ
สองปีที่เมืองอาร์ลกับผลงานสุดยิ่งใหญ่
ต้นปี 1888 แวนโก๊ะย้ายไปอยู่ที่เมืองอาร์ล (Arles) ทางใต้สุดของฝรั่งเศส ด้วยทิวทัศน์และบรรยากาศชนบทของเมืองนี้เป็นแรงขับเคลื่อนบวกกับฝีมือการเขียนภาพที่พัฒนาบ่มเพาะจนได้ที่ แวนโก๊ะได้สร้างผลงานชั้นยอดที่นี่จำนวนมาก เป็นภาพเขียน 200 ภาพ ภาพสเก็ตช์และภาพสีน้ำอีกกว่า 100 ภาพ เขาเขียนภาพการเก็บเกี่ยว ภาพทุ่งข้าวสาลี และภาพสถานที่น่าสนใจ โดยใช้สีเหลือง สีน้ำเงินเข้ม และสีม่วงอ่อนเป็นหลัก
กลางปี 1888 แวนโก๊ะเช่าห้อง 4 ห้องที่ปีกตะวันออกของอาคาร The Yellow House ใช้เป็นทั้งห้องเขียนภาพและห้องแสดงภาพ และเป็นที่นี่เองที่ภาพเขียนชิ้นเอกของเขาได้หลั่งไหลพรั่งพรูออกมา ภาพ Van Gogh’s Chair, Bedroom in Arles, The Night Café, Café Terrace at Night, Starry Night Over the Rhone, ภาพ Still Life ในชุด Sunflowers ทั้งหมดแวนโก๊ะตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อใช้ตกแต่งห้องที่ The Yellow House และเพื่อต้อนรับโกแก็งเพื่อนศิลปินที่เขายกย่องซึ่งจะมาเยี่ยมเขาถึงที่นี่ ภาพเขียนชุดนี้เรียกกันว่า Décoration for the Yellow House ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ทะเยอทะยานที่สุดในชีวิตของแวนโก๊ะ
เพื่อนรักเพื่อนแค้นและเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
หลังจากได้รับการอ้อนวอนจากแวนโก๊ะหลายครั้ง โกแก็งจึงได้มาที่เมืองอาร์ลและพักอยู่กับเขาที่ The Yellow House นาน 2 เดือน แวนโก๊ะหวังจะได้รับมิตรภาพและการยอมรับในฐานะศิลปินจากโกแก็งเช่นเดียวที่เขารู้สึกต่ออีกฝ่าย ศิลปินทั้งสองได้เขียนภาพด้วยกัน โกแก็งได้เขียนภาพของแวนโก๊ะขณะกำลังเขียนภาพดอกทานตะวันคือภาพ The Painter of Sunflowers ซึ่งแวนโก๊ะรู้สึกว่าโกแก็งตั้งใจเขียนให้เขาดูเหมือนคนวิกลจริต ช่วงหลังที่อยู่ด้วยกันทั้งสองคนทะเลาะกันบ่อยเพราะแวนโก๊ะคับข้องใจในความหยิ่งยโสและชอบครอบงำของโกแก็ง และในที่สุดโกแก็งก็ไปจากแวนโก๊ะหลังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
แวนโก๊ะรู้สึกได้ว่าโกแก็งกำลังจะไปจากเขา ความรู้สึกกลัวที่ถูกโกแก็งทอดทิ้งทวีสูงขึ้นจนถึงจุดวิกฤติ ในคืนก่อนถึงวันคริสมาสต์ 2 วันทั้งสองทะเลาะกันหนักจนโกแก็งออกจากบ้านไปนอนโรงแรม แวนโก๊ะได้ตัดใบหูข้างซ้ายของตัวเองด้วยมีดโกน แล้วเอาใบหูเปื้อนเลือดห่อกระดาษส่งไปให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่สถานบริการซึ่งเขาและโกแก็งมาเที่ยวกันบ่อยๆ หลังเหตุการณ์โกแก็งรีบกลับปารีสและไม่เคยพบกับแวนโก๊ะอีกเลย มีเพียงการติดต่อกันทางจดหมาย ส่วนแวนโก๊ะหมดอาลัยตายอยากและต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานเป็นเดือนด้วยอาการประสาทหลอนและหลงผิด ต่อมาถูกชาวบ้านร้องเรียนว่าเป็นคนบ้า จนถึงกลางปี 1889 แวนโก๊ะจึงย้ายออกจากเมืองอาร์ลเพื่อเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลโรคจิต
ผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่เคยหยุดทำสิ่งที่รัก
แวนโก๊ะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล Saint-Paul ในเมือง Saint-Rémy ไม่ไกลจากเมืองอาร์ลนาน 1 ปีเต็ม สถานพยาบาลและสวนของที่นี่จึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญในภาพเขียนที่เขายังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เขาได้เขียนภาพชุด Cypresses, ชุด Flowers, ชุด Wheat fields, ชุด Olive Trees และภาพเขียนชิ้นเยี่ยมอีกจำนวนมาก รวมทั้งภาพที่โด่งดังที่สุดของเขาคือภาพ The Starry Night ช่วงต้นปี 1890 แวนโก๊ะได้รับเชิญให้ส่งภาพเข้าร่วมนิทรรศการประจำปีของกลุ่มศิลปิน Les XX ที่เมืองบรัสเซลส์ และในคราวนั้นโกลด มอแน (Claude Monet) ศิลปินดังแห่งยุคได้กล่าวว่าผลงานของแวนโก๊ะดีที่สุด
กลางปี 1890 แวนโก๊ะย้ายออกจากโรงพยาบาลที่ Saint-Rémy ไปอยู่ที่ Auvers-sur-Oise ทางตอนเหนือของปารีส เพื่อไปรับการรักษาจากนายแพทย์ Paul Gachet ผู้ซึ่งเป็นจิตรกรสมัครเล่น แวนโก๊ะรู้สึกเมื่อแรกพบว่า Gachet ป่วยหนักยิ่งกว่าเขาเสียอีก การพบกันของทั้งสองคนได้นำไปสู่ผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Portrait of Dr. Gachet แวนโก๊ะสร้างผลงานเด่นอีกหลายชิ้นที่นี่ อย่างเช่น White House at Night, The Church at Auvers รวมทั้งภาพ Wheatfield with Crows ที่กล่าวกันว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา แวนโก๊ะจบชีวิตด้วยการยิงตัวตายเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม ปี 1890 เขาจากไปด้วยวัยเพียง 37 ปี
ผลงานสุดมหัศจรรย์ของศิลปินผู้ยากไร้
แม้จะใช้ชีวิตเป็นศิลปินเพียง 10 ปี แต่แวนโก๊ะกลับสร้างผลงานไว้เป็นจำนวนมากถึงกว่า 2,000 ชิ้น เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเกือบ 900 ชิ้นซึ่งส่วนใหญ่เขียนขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีสุดท้ายของชีวิต ไม่น่าเชื่อว่าตลอดชีวิตของแวนโก๊ะเขาขายภาพเขียนได้เพียงภาพเดียวคือภาพ The Red Vineyards near Arles คนซื้อยังเป็นเพื่อนศิลปินของเขาเอง ผลงานภาพเขียนของแวนโก๊ะมีเสน่ห์ตรงฝีแปรงที่หยาบและหนาไม่เหมือนใคร แต่กลับถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างยอดเยี่ยม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของแวนโก๊ะที่ใครๆก็อยากมีโอกาสได้ชมภาพจริงให้เห็นเป็นบุญตา
Early Works (1881-1882)
Nuenen และ Antwerp (1883–86)
Paris (1886–88)
Arles (1888–89)
Saint-Rémy และ Auvers (1889 – 1890)
ศิลปินชื่อก้องโลกที่ผู้คนชื่นชอบและยกย่อง
หลังจากแวนโก๊ะเสียชีวิตไปแล้วภาพเขียนของเขาได้ถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการหลายแห่ง แวนโก๊ะจึงเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ภาพเขียนแต่ละภาพของเขาถูกซื้อขายด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว ผลงานของแวนโก๊ะจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นดาวเด่นดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างเนืองแน่น
พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะถูกจัดสร้างขึ้นโดยแรงผลักดันของ Vincent Willem van Gogh ลูกของธีโอคนที่แวนโก๊ะเขียนภาพ Almond Blossoms มอบให้ตอนที่เขาเกิด และการสนับสนุนของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานของแวนโก๊ะทั้งหมดที่ไม่ได้ขายออกไป ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เริ่มเปิดให้ชมตั้งแต่ปี 1973 มีผู้คนที่ชื่นชอบผลงานของแวนโก๊ะหลั่งไหลไปชมกันอย่างคับคั่งปีละเกือบ 2 ล้านคน
ปี 1971 Don McLean นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกันได้แต่งเพลง “Vincent” เพื่อยกย่องแวนโก๊ะ เพลงถูกเขียนขึ้นในช่วงการฉลองครบรอบ 100 ปีครึ่งชีวิตของแวนโก๊ะพอดี McLean เขียนเนื้อเพลงถ่ายทอดชีวิต ความคิด ความรู้สึกของแวนโก๊ะผ่านสิ่งที่สะท้อนจากภาพเขียนของแวนโก๊ะเอง ด้วยท่วงทำนองดนตรีที่ไพเราะและเนื้อเพลงที่บาดลึกกินใจถึงอารมณ์ ทำให้เพลง Vincent ได้รับความนิยมติดชาร์ตอย่างยาวนาน กลายเป็นเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่งของผู้คนทั่วโลก (ขอขอบคุณ “จันทร์รพี” แฟนคลับตัวยงของแวนโก๊ะที่ช่วยแปลเนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอด้านล่าง)
ปี 2017 ชีวประวัติของแวนโก๊ะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Loving Vincent เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่สร้างจากภาพเขียนทั้งหมด มีการระดมจิตรกร 115 คนเขียนภาพสีน้ำมันบนผ้าใบในสไตล์ของแวนโก๊ะจำนวน 65,000 ภาพเพื่อประกอบขึ้นเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ แฟนคลับของแวนโก๊ะห้ามพลาดชมด้วยประการทั้งปวง
เรื่องราวชีวิตที่แสนสั้นรันทดกับผลงานศิลปะสุดมหัศจรรย์ที่เขาสร้างสรรค์จะถูกเล่าขานไปอีกนานแสนนาน เพราะเขาคือ วินเซนต์ แวนโก๊ะ บุคคลที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, vangoghmuseum.nl, vincent-van-gogh-gallery.org